fbpx

8 วิธีให้ลูกยอมใส่แมสก์

ในช่วงที่เราทุกคนต้องเผชิญหน้ากับเชื้อไวรัสตัวร้าย อย่างเจ้าโควิด-19 คุณพ่อคุณแม่ต่างกังวลว่าจะดูแลลูกน้อยอย่างไรให้ปลอดภัยจากไวรัส ทั้งหน้ากากอนามัย เฟซชิลด์ เบบี้ไวพ์ เจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ แม่เตรียมไว้หมดครบทุกไอเท็ม แต่ลูกน้อยสุดที่รักกลับไม่ยอมให้ความร่วมมือ ลูกไม่ยอมใส่หน้ากาก ซะอย่างนั้น พ่อแม่จะทำยังไงดี?

เด็กวัยไหนที่ควรใส่หน้ากาก?

คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่า ไม่ใช่เด็กทุกคน ทุกวัยที่ควรใส่หน้ากาก ข้อมูลจากโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ระบุว่า

ทารกเแรกเกิด ถึง 1 ปีไม่ควรสวมหน้ากาก เพราะยังมีระบบการหายใจที่ไม่แข็งแรงพอ อาจเกิดการคั่งของคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นอันตรายต่อระบบประสาทของทารกได้ หากต้องพาลูกออกนอกบ้าน แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่อุ้มลูกแนบอก หรือใส่ในรถเข็นที่มีผ้าคลุมปิดแทน ลูกจะปลอดภัยและยังคงหายใจได้อย่างสบาย

เด็กวัย 1-2 ปีหากจำเป็นต้องใส่หน้ากาก ควรใส่ด้วยความระมัดระวัง และใส่ในระยะเวลาที่สั้นที่สุด

เด็กวัย 2 ปี ขึ้นไปสามารถใส่หน้ากากได้แล้ว ยกเว้นเด็กที่มีความบกพร่องทางสมอง หรือระบบทางเดินหายใจ ไม่ควรใส่หน้ากาก

เด็กที่มีโรคประจำตัวที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษโรคทางระบบประสาทหรือระบบทางเดินหายใจบกพร่องรุนแรง ไมสามารถใส่หน้ากากได้ ควรเคร่งครัดเรื่องการรักษาระยะห่าง

หากลูกน้อยของคุณแม่อยู่ในวัย 2 ขวบขึ้นไปที่ควรสวมหน้ากากแล้ว คุณแม่จำเป็นต้องฝึกให้ลูกใส่หน้ากากให้เคยชินทุกครั้งเมื่อต้องออกนอกบ้าน แต่ปัญหาคือ ลูกไม่ยอมใส่หน้ากาก บ้านไหนที่กำลังประสบปัญหานี้ ใช้สารพัดวิธีในการหลอกล่อก็แล้ว แต่ไม่สำเร็จ ลูกดึงออกตลอด เพราะอึดอัด รำคาญ บางบ้านจึงให้ลูกใส่ Face Shield แทน

ลูกไม่ยอมใส่หน้ากาก ใส่ Face Shield แทนได้ไหม?

ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่า การใส่ Face Shield แทนหน้ากากอนามัย ยังไม่สมควร เพราะยังมีช่องเข้าสู่จมูก ปาก และหน้าตา ยิ่ง Face Shield แบบที่เป็นพลาสติกบางใส อ่อนไปอ่อนมา จะยิ่งลดความปลอดภัยลงอีก

ดังนั้น การใส่เฟซชิลด์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ช่วยป้องกันโรค ทั้งยังสามารถทำให้ลูกน้อยรับเชื้อและแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ เฟซชิลด์ไม่สามารถทดแทนหน้ากากอนามัยได้ แม้จะใส่เฟซชิลด์ก็ยังจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัยอยู่ดี

8 วิธีให้ลูกยอมใส่แมสก์

1. ใส่เป็นเพื่อนลูกเด็กเล็กชอบเลียนแบบพฤติกรรมพ่อแม่ เมื่อลูกเห็นพ่อแม่ใส่ ลูกจะอยากใส่ด้วย ลองเลือกแมสก์ลายเหมือนกัน ใส่เป็นทีมพ่อแม่ลูกดูนะคะ

2. ให้ตุ๊กตาใส่ด้วยบางทีลูกอาจอยากมีเพื่อนใส่หน้ากากอนามัย ตุ๊กตาตัวโปรดก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่น่าสนใจ หรือชี้ให้ลูกดูเพื่อนคนอื่นๆ ก็ใส่หน้ากากกัน ลูกเห็นเพื่อนใส่ก็จะอยากใส่ด้วย

3. เลือกลายการ์ตูนที่ลูกชอบก่อนคุณแม่จะสั่งซื้อหน้ากาก ลองให้ลูกมีส่วนร่วมในการเลือกลายที่เขาชอบ จากเดิมที่ไม่ยอมใส่ พอเจอลายที่ชอบเขาก็อาจยอมใส่ไม่ยาก

4. มีคำชม มีรางวัลเป็นการเสริมแรงทางบวกเมื่อลูกยอมใส่หน้ากากอนามัย ลองให้ลูกส่องกระจก แล้วชมว่าใส่แล้วน่ารักจังเลย ลูกจะได้ดีใจและอยากใส่อีกเพราะอยากให้คุณแม่ชม

5. อธิบายเหตุผลที่ต้องใส่หน้ากากหากลูกอายุน้อยกว่า 3 ปีพอจะเข้าใจเหตุผลง่ายๆ ได้แล้ว คุณแม่ลองคุยกับลูกว่า เราต้องใส่หน้ากากอนามัยเราถึงจะปลอดภัย

6. ให้ดูแอนิเมชั่นที่เป็นตัวไวรัสลูกอายุ 3 ปีขึ้นไป มีความเข้าใจเรื่องเชื้อโรคมากขึ้น สามารถอธิบายได้ว่า เชื้อโรคทำให้เราเจ็บป่วย เมื่อลูกเห็นภาพก็จะเข้าใจได้ง่ายขึ้น และยอมใส่หน้ากากเพื่อป้องกันเชื้อโรค

7. ทำข้อตกลงถ้าไม่ใส่ไม่ออกจากบ้าน ข้อนี้คุณแม่ต้องใจแข็ง ลูกอาจไม่พอใจ ร้องโวยวาย แต่ถ้าคุณแม่หนักแน่นลูกจะเรียนรู้เองว่า เป็นสิ่งที่ต้องทำ ถึงร้องไปก็ไม่ได้อยู่ดี (บางบ้านใช้ทริค บอกลูกว่า ถ้าไม่ใส่เขาไม่ให้เข้าร้านนะ วิธีนี้ใช้ได้ผลหลายบ้านเลย)

8. ใช้การเล่านิทานเด็กจะใช้จินตนาการของเขาเชื่อมโยงเรื่องราวในนิทานกลับมายังตัวเอง ให้ตัวละครในนิทานเป็นตัวอย่างในการใส่แมสก์ และจูงใจให้ลูกน้อยยอมใส่แมสก์แต่โดยดี


หนังสือนิทาน “ปิงปิงไม่ใส่หน้ากาก” สอนลูกห่างไกลโรคติดต่อ

นิทานปิงปิง เรื่อง ปิงปิงไม่ใส่หน้ากาก 1 ใน 4 เรื่องจาก ชุดปิงปิงระวังภัย ผู้ช่วยคุณแม่ยุคใหม่ สอนลูกให้ห่างไกลโรคติดต่อ ด้วยการรู้จักดูแลสุขอนามัยของตัวเอง ผ่านตัวละครหนูน้อย “ปิงปิง” ซึ่งปิงปิง ก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่รู้สึกอึดอัดและรำคาญเวลาที่ต้องสวมหน้ากาก และเมื่อถอดหน้ากาก ก็ทำให้ปิงปิงได้เรียนรู้และเข้าใจ ว่าทำไมต้องใส่หน้ากากอนามัย รวมไปถึงการดูแลสุขอนามัยที่จำเป็นอื่นๆ เช่น กินร้อน ช้อนกลาง และล้างมือ หนังสือเล่มนี้ช่วยให้ลูกน้อย “เรียนรู้การรักษาสุขอนามัย” ไปพร้อมกับปิงปิง อีกทั้งคุณแม่สามารถต่อยอด ชวนลูกมองกลับมาที่ตัวเอง เช่น สมมติว่าถ้าลูกเป็นหวัดเหมือนปิงปิง แล้วอยากไปเล่นกับเพื่อน แต่ไม่มีหน้ากากอนามัยจะทำอย่างไร? การตั้งคำถามให้ลูกได้ฝึกคิดต่อจะช่วยพัฒนา EF ของลูก ในการคิดยืดหยุ่น การยั้งคิด ไตร่ตรอง และปลูกฝังให้ลูกน้อยมีทักษะการใช้ชีวิต สามารถดูแลตัวเองได้อย่างปลอดภัยตั้งแต่วันนี้ เพื่อเป็นพื้นฐานที่ดีต่อไปในอนาคตข้างหน้าของลูก