Pass Education Co.,Ltd
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
พาส เอ็ดดูเคชั่น สวัสดีจ้า
เริ่มแชท

สยบทุกปัญหา "ลูกเอาแต่ใจ"

สยบทุกปัญหา "ลูกเอาแต่ใจ"

สยบทุกปัญหา "ลูกเอาแต่ใจ"

"ลูกเอาแต่ใจ" ปัญหาน่าปวดใจของคุณพ่อคุณแม่ เมื่อเจ้าตัวน้อยที่เคยว่านอนสอนง่าย ยิ่งโต ยิ่งดื้อ ยิ่งเอาแต่ใจ แสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมามากขึ้น แล้วจะมีวิธีไหนช่วยแก้ปัญหาลูกเอาแต่ใจ เพื่อให้เติบโตไปไม่เป็น "ผู้ใหญ่เอาแต่ใจ" ได้บ้าง
 
ปัญหาของเด็กที่เอาแต่ใจตัวเอง จะทำให้ลูกคิดถึงแต่ตัวเอง ทำอะไรเพื่อตัวเอง ไม่ค่อยนึกถึงผู้อื่น ยอมแพ้ไม่ได้ ทั้งยังเรียกร้องสูง อดทนไม่ค่อยได้ คอยไม่เป็น อยากได้อะไรต้องได้ และต้องได้ในทันที! สิ่งสำคัญที่ทำให้เด็กเติบโตมาเป็นคนที่เอาแต่ใจคือการเลี้ยงดูของผู้ใหญ่ เพราะเด็กจะเรียนรู้วิธีที่ผู้ใหญ่ตอบสนองต่ออารมณ์และความต้องการของเด็ก หากผู้ใหญ่ตามใจมากเกินไป จะทำให้เด็กเคยตัวอยากได้อะไรต้องได้ในทันที โตมาก็จะยิ่งเอาแต่ใจ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องใส่ใจในการเลี้ยงดูลูกน้อยตั้งแต่ยังเล็ก

2 ขวบถึงวัยที่ลูกเริ่มเอาแต่ใจ

วัยที่ลูกเริ่มเดินได้ วิ่งไปมาอย่างสบายใจ มักจะมีพฤติกรรมเอาแต่ใจตัวเอง เพราะเป็นช่วงวัยอยากรู้อยากลอง สนุกกับการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัว โดยช่วงอายุ 2 ปี เด็กจะเริ่มสร้างพัฒนาการด้วยความเป็นตัวของตัวเอง เรียกได้ว่าเป็น วัยกำลังซน และเริ่มดื้อ ไม่ยอมเชื่อฟังหรือทำตาม เป็นช่วงที่เด็กไม่สามารถระงับความอยากของตัวเอง ยังไม่รู้หรือไม่เข้าใจว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนไม่ควรทำ ทั้งยังพูดไม่คล่องจึงไม่สามารถสื่อสารสิ่งที่ต้องการออกมาเป็นคำพูดได้ทั้งหมด ทำให้ลูกรู้สึกอึดอัด หงุดหงิด ยิ่งถ้าถูกขัดใจหรือห้ามไม่ให้ทำอะไร เด็กก็ยิ่งแสดงออกถึงความไม่พอใจออกมา

ช่วงอายุสำคัญที่ต้องเตรียมรับมือ ลูกดื้อ ลูกเอาแต่ใจ คือ 18 เดือนถึง 3 ปี หรืออาจนานถึง 5 ปี ช่วงวัยใกล้ ๆ 2 ขวบ เด็กจะเริ่มทำอะไรได้ด้วยตัวเอง จึงเป็นวัยที่กำลังเอาแต่ใจ และแสดงวิธีการของตนเองโดยไม่ทำตามผู้ใหญ่บอกเสมอไป เพราะเด็กช่วงวัยนี้จะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางและใช้อารมณ์เป็นหลัก
 
วิธีเลี้ยงลูกไม่ให้เป็นเด็กเอาแต่ใจ

การเลี้ยงลูกไม่ให้เอาแต่ใจควรเริ่มต้นตั้งแต่ยังเล็ก โดยใช้ความอดทนของพ่อแม่เป็นพื้นฐาน ค่อยเป็นค่อยไปและค่อย ๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งไหนทำได้ สิ่งไหนทำไม่ได้ วิธีเลี้ยงลูกไม่ให้เป็นเด็กเอาแต่ใจ ทำได้ดังนี้

1. ฝึกเรื่องระเบียบกฎเกณฑ์ตั้งแต่ยังเล็ก

การให้ลูกเล่นหรือทำอะไรควรมีขอบเขตเพื่อฝึกให้เด็กเรียนรู้ข้อห้ามและข้อบังคับ ทั้งยังช่วยให้เด็กหัดควบคุมตนเองอีกด้วย โดยบอกให้ลูกเข้าใจว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ใช้คำพูดที่สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ด้วยน้ำเสียงปกติท่าทีอ่อนโยน แต่ต้องเอาจริงและเด็ดขาด
 
2. ให้ลูกรู้จักคอย

การตอบสนองทุกอย่างที่รวดเร็วเกินไปจะทำให้เด็กคอยไม่เป็น อยากได้อะไรต้องได้ในทันที การฝึกให้ลูกคอยให้เป็นจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้เด็กรู้จักอดทนรอ เช่น "หนูอยากจะให้แม่ไปเล่นด้วยแล้วใช่ไหมคะ รอแม่ล้างจานให้เสร็จก่อนนะคะลูก" หรือแม้แต่การทำกิจวัตรประจำวันก็เป็นการสอนลูกไปในตัวอย่างการพาเด็กไปเข้าคิวรอซื้ออาหาร เพื่อฝึกให้ลูกรู้จักการรอคอย
 
3. สอนให้เด็กนึกถึงผู้อื่น

ฝึกให้เด็กช่วยเหลือผู้อื่นหรือคนในครอบครัว เช่น ช่วยคุณแม่พับผ้าหรือทำงานบ้านง่าย ๆ ตามวัย แล้วชื่นชมความช่วยเหลือของลูก จะทำให้เด็กมีน้ำใจ คิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ ลดการคิดถึงแต่ตัวเอง ซึ่งจะช่วยลดพฤติกรรมเอาแต่ใจ

การสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยลดพฤติกรรมการเอาแต่ใจลงได้ แต่บางครั้งลูกก็แสดงการต่อต้าน ขัดขืน หรืออาละวาดเรียกร้องให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องเตรียมตัวรับมือเช่นกัน

เทคนิคจัดการ "ลูกเอาแต่ใจ"

ในวัยที่เด็กกำลังซน ดื้อ เอาแต่ใจ คุณพ่อคุณแม่อาจจะใจอ่อนหรือสติหลุดได้ง่าย ๆ เพื่อทำให้เด็กหยุดร้องโวยวาย แต่การตามใจหรือดุด่าอย่างรุนแรงไม่เป็นผลดีในระยะยาว คุณพ่อคุณแม่จึงต้องฝึกจิตฝึกใจของตัวเองไปด้วย
 
● หนักแน่นไม่โอนอ่อน การตามใจบ่อย ๆ ทำให้เด็กเรียนรู้ว่า จะได้รับในสิ่งที่ตัวเองต้องการในทันที เด็กจึงรอคอยไม่เป็น พอไม่ได้ดั่งใจก็จะนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่น่ารัก เช่น ร้องไห้งอแง อาละวาด หรือร้องกรี๊ด หากผู้ใหญ่ตอบสนองในสิ่งที่เด็กต้องการ เด็กจะเรียนรู้ว่าวิธีนี้ได้ผลจึงทำซ้ำ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องยึดหลักนิ่งสงบสยบความเคลื่อนไหว ไม่ดุหรือตี แต่ไม่ตามใจ ผู้ใหญ่ต้องหนักแน่น อดทนและเอาจริง หากลูกทำสิ่งที่ไม่เหมาะสมให้พูดด้วยน้ำเสียงปกติ เช่น "หนูปาของเล่นใส่น้องไม่ได้นะลูก"

● ยึดมั่นในเหตุผล ผู้ใหญ่อาจจะคิดว่าเด็กไม่เข้าใจเรื่องเหตุผล แต่เด็กจะเรียนรู้จากการปฏิบัติตัวของผู้ใหญ่ รวมถึงเลียนแบบในสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำด้วย ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำต้องมีเหตุผล และต้องอธิบายให้ลูกรับรู้ถึงเหตุผลนั้นได้ด้วย เช่น "ที่แม่ห้ามลูกเล่นมีด เพราะมันจะเป็นอันตรายต่อตัวลูก ถ้ามีดโดนนิ้วหนูจะเจ็บมาก ๆ เลือดไหลต้องไปหาหมอด้วยนะ" ที่สำคัญ หากไม่อยากให้ลูกทำสิ่งไหน ผู้ใหญ่ก็ต้องไม่ทำสิ่งนั้น เพราะเด็กจะไม่เข้าใจว่า ทำไมผู้ใหญ่ทำได้แต่เด็กทำไม่ได้
 
● ใจแข็งที่จะลงโทษลูกเมื่อจำเป็น หากลูกมีพฤติกรรมที่เอาแต่ใจมากหรือควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่ควรลงโทษลูกด้วยวิธีรุนแรงเมื่อลูกแสดงออกถึงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ให้ใช้วิธีขอเวลานอกหรือ Time Out นำลูกออกจากบริเวณนั้น หามุมสงบให้ลูกทบทวนตัวเอง พร้อมบอกว่า "ถ้าลูกเงียบแล้วแม่จะกอดหนูนะ" เมื่อลูกสงบลงให้ชื่นชม "เก่งมากนะจ๊ะ แม่ชอบที่หนูไม่งอแง"

หากลูกเอาแต่ใจเพียงเล็กน้อย ลองใช้วิธีเบี่ยงเบนความสนใจดูก่อน ด้วยการชวนลูกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น แต่ถ้าลูกยังร้องไห้หรืองอแงไม่หยุด ให้แสดงความเข้าใจด้วยคำพูดอย่าง "แม่รู้ว่าหนูเสียใจ แต่แม่อยู่ตรงนี้เสมอนะคะ ถ้าลูกหยุดร้องไห้แล้ว เรามาคุยกันนะ" ในขณะที่รอให้ลูบหลังลูบหัวจนกว่าลูกจะสงบ การรับมือเด็กเอาแต่ใจจะแตกต่างกันไปตามแต่พฤติกรรมของเด็กแต่ละคน หากคุณพ่อคุณแม่ได้สอนลูกตั้งแต่ยังเล็กจะช่วยลดปัญหาลูกอาละวาดรุนแรงได้
 

นิทาน “ไม่ชอบปิงปิงไม่ใส่” แก้ปัญหาลูกเอาแต่ใจ

เมื่อถึงช่วงวัยที่ลูกเอาแต่ใจตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ลองใช้ตัวช่วยอย่างหนังสือนิทาน “ไม่ชอบปิงปิงไม่ใส่” มาช่วยปรับพฤติกรรมลูกเอาแต่ใจ ผ่านเรื่องราวของ "ปิงปิง" ที่อยากรีบไปหาคุณยาย แต่หาชุดตัวโปรดเท่าไรก็หาไม่เจอ

หลังจากอ่านหนังสือ นิทาน “ไม่ชอบปิงปิงไม่ใส่” ลองชวนลูกต่อยอดความคิด พัฒนาทักษะ EF ด้วยการชวนลูกพูดคุยถึงเรื่องราวที่อ่านจบไป เช่น "ถ้าหนูเป็นปิงปิงจะทำโปสการ์ดไปฝากคุณยายต้องเตรียมอะไร" ช่วยฝึกให้ลูกมีทักษะการใส่ใจจดจ่อและฝึกวางแผนการทำงาน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิตต่อไป

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้