Pass Education Co.,Ltd
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
พาส เอ็ดดูเคชั่น สวัสดีจ้า
เริ่มแชท

วิธีสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ

วิธีสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ

7 วิธีสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ

1. พ่อแม่ต้องเอาจริง
เชื่อว่าทุกบ้านมีการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบตามวัยให้ลูกอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ทุกบ้านที่จะประสบความสำเร็จในการสอนลูกให้มีความรับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับว่าพ่อแม่สอนจนปากเปียกปากแฉะ แต่ลูกก็ยังไม่ฟัง แต่เกี่ยวกับปฏิกิริยาของพ่อแม่เมื่อลูกไม่รับผิดชอบหน้าที่ของเขาต่างหาก เมื่อลูกไม่ทำการบ้าน ไม่เก็บที่นอน ไม่ทำความสะอาดห้อง พ่อแม่ก็แค่บ่นๆ แล้วก็ผ่านไป นี่คือข้อบกพร่องของพ่อแม่ที่ไม่เอาจริง

2. ไม่บังคับ แต่อธิบายเหตุผลว่า รับผิดชอบไปเพื่ออะไร
หากคุณมอบหมายความรับผิดชอบให้ลูก แล้วบังคับให้ลูกทำ เมื่อลูกไม่ทำก็จะถูกดุ หรือถูกลงโทษ ต่อมาลูกก็จะหาวิธีแก้ตัว โกหก ยกข้ออ้างมากมาย เพื่อที่จะไม่ต้องทำสิ่งนั้น

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำก่อนที่จะบังคับลูกคือ นั่งลงคุยกับลูก อธิบายเหตุผลว่าทำไมต้องทำสิ่งนี้ ทำแล้วดีอย่างไร  เช่น ทำไมต้องเก็บที่นอนทุกเช้า เพราะการเก็บที่นอนตอนเช้า เป็นภารกิจแรกของวันที่ไม่ยากเกินความสามารถ ถ้าทำภารกิจแรกของแต่ละวันได้สำเร็จลูกก็จะเกิดความภูมิใจในตัวเอง และมีแรงทำสิ่งอื่นๆ ต่อไป นอกจากนี้ การพับผ้าห่มแล้ววางไว้ที่ปลายเตียง ยังช่วยให้เตียงระบายอากาศได้ดีขึ้น แสงแดดส่องมาโดนผ้าปูที่นอนก็จะช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่มากับคราบเหงื่อขณะนอนหลับอีกด้วย

3. เริ่มฝึกตั้งแต่ยังเล็ก
ฝึกให้ลูกเริ่มรับผิดชอบสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวเขาเองได้ตั้งแต่เล็ก เพื่อเป็นการฝึกทักษะสมอง EF ที่ใช้ในการควบคุมอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมของตัวเอง เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย โดยเริ่มจากการดูแลร่างกายตัวเอง เช่น กินข้าวเอง อาบน้ำเอง เข้าห้องน้ำเอง แต่งตัวเอง ต่อมาเริ่มขยายอาณาเขต ฝึกทำงานบ้านที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น เก็บที่นอน เก็บของเล่น ช่วยตากเสื้อผ้าของตัวเอง จากนั้นก็ขยายออกไปสู่งานบ้านที่เป็นของส่วนรวม เช่น กวาดบ้าน ถูบ้าน เอาขยะไปทิ้ง ล้างจานของทุกคน เป็นต้น โดยฝึกไปทีละขั้น เริ่มจาก ทำให้ดู > จับมือทำ > ทำด้วยกัน > ปล่อยเขาทำ เมื่อโตขึ้นเขาจะรู้จักวางแผน และรู้จักปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ เพื่อไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ

หากไม่วางรากฐานความรับผิดชอบตั้งแต่ยังเล็ก คิดว่าลูกยังเล็กยังไม่เป็นไรหรอก เมื่อลูกโตถึงวัยมัธยมก็สายเกินไป เราจะสอนเขาไม่ได้แล้ว เพราะเขาจะไม่ฟังเราแล้ว

4. พ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก
พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ทำให้ลูกเห็นความรับผิดชอบในครอบครัว เช่น แม่ทำกับข้าว ล้างจาน พ่อล้างรถ ดูแลสวน และทำงานที่ต้องรับชอบเหล่านั้นให้ลูกเห็นเป็นประจำ หากลูกถามว่า คุณกำลังทำอะไร ให้พูดว่า

 “แม่กำลังไปซื้อกับข้าวมาทำอาหารให้ทุกคนทาน นี่เป็นความรับผิดชอบของแม่”

“พ่อกำลังล้างรถ นั่นเป็นความรับผิดชอบของพ่อ”

ลูกจะเรียนรู้ว่า สิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ ก็เป็นความรับผิดชอบของลูกเช่นกัน

5. ทำให้เป็นเรื่องสนุก
เด็กมักมองหาความสนุก ตื่นเต้น เขาไม่อยากทำอะไรที่รู้สึกน่าเบื่อ และไม่สนุกเอาเสียเลย ดังนั้น หากอยากปลูกฝังความรับผิดชอบให้ลูก ลองเปลี่ยนสิ่งนั้นให้เป็นเรื่องสนุกดูสิ เช่น ชวนลูกแข่งกันดีไหม ลูกเก็บของเล่นอันเล็ก แม่เก็บอันใหญ่ ใครจะเก็บของเล่นเสร็จก่อนกัน ระหว่างทำงานบ้านให้ลูกเปิดเพลงที่ลูกชอบ ร้องและโยกไปด้วย ช่วยให้ทำงานบ้านแบบเพลินๆ เผลอแป๊บเดียวก็เสร็จ

6. ชมสุดซอย
เมื่อลูกพยายามที่จะรับผิดชอบหน้าที่ของเขา แม้ว่างานนั้นจะยังไม่เรียบร้อยก็ตาม เช่น พับผ้ายังไม่เรียบร้อย กวาดบ้านยังไม่สะอาด นั่งทำการบ้านนานแล้วแต่ก็ยังไม่เสร็จ ลูกก็ควรได้รับคำชมในความพยายามของเขา เช่น หนูมีความพยายามมากเลย แม่ดีใจมากๆ หนูอดทนนั่งทำการบ้านนานมากๆ เยี่ยมที่สุดเลย หนูไม่เข้าใจตรงไหน เรามาพยายามด้วยกันนะ เป็นต้น การชมลูก ไม่ได้ทำให้เหลิง แต่เป็นยาชูกำลัง(ใจ) อย่างดี ให้ลูกอยากจะทำดีต่อไป และดียิ่งขึ้นไป

7. ให้รางวัล
นอกจากการชมแล้ว อาจให้รางวัลกับลูกเมื่อลูกทำได้ดีขึ้น โดยเชื่อมโยงรางวัลนี้เข้ากับความรับผิดชอบและผลที่ตามมา เช่น จากที่เคยกวาดบ้านไม่สะอาด วันนี้กวาดได้สะอาดทุกซอกทุกมุม คุณจึงให้รางวัลกับลูก

“ลูกได้รางวัลนี้เพราะลูกกวาดบ้าน สะอาดกริ๊บทุกซอกทุกมุม สุดยอดไปเลย”

“นี่คือรางวัลของลูกสำหรับความตั้งใจทำการบ้านจนเสร็จ มีสมาธิสุดๆ เยี่ยมมากๆ จ้ะ”

เป็นอีกวิธีสอนให้ลูกมีความรับผิดชอบ กระตุ้นให้ลูกอยากรับผิดชอบงานอื่นๆ ให้ดีเช่นเดียวกัน

 

ความรับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตและเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเรียนรู้วิธีการทำงานในโลกที่ซับซ้อนและมีความต้องการมากขึ้น เมื่อเด็กสามารถรับผิดชอบตัวเองหน้าที่ของตัวเองได้ พวกเขาจะสามารถจัดการกับปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในชีวิตได้ดีขึ้นเมื่อโตขึ้น รู้จักควบคุมตัวเอง ยับยั้งชั่งใจ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน รู้จักคิดวางแผน คิดยืดหยุ่น มีทักษะในการจัดการกับอุปสรรคเพื่อไปถึงเป้าหมายได้

 

ชุดนิทานก่อนนอน สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ สำหรับเด็ก 1-6 ปี

ช่วยกันนะผึ้งน้อย นิทานภาพคำกลอน สอนให้ลูกมีความรับผิดชอบ ผ่านเรื่องราวของผึ้งน้อยสิบตัวที่ทุกวันช่วยแม่หาน้ำหวาน วันหนึ่งพี่ใหญ่อู้งานไปแอบนอนทิ้งให้น้องๆ ทำงาน วันต่อมาเมื่อน้องเห็นพี่ทำได้จึงอู้งานตามอย่างบ้าง จนสุดท้ายเหลือผึ้งน้อยตัวเดียวที่ยังคงทำงานหาน้ำหวาน ไม่นานน้ำหวานที่เก็บไว้ก็ไม่พอแบ่งกันกิน สุดท้ายผึ้งน้อยทั้งสิบสำนึกได้จึงช่วยกันออกหาน้ำหวาน ไม่มีใครอู้งานอีกแล้ว

รักของแม่ พัฒนา EF ของลูก

 “ชุดนิทานก่อนนอน” นิทาน EF เรื่อง ช่วยกันนะผึ้งน้อย ช่วยพัฒนา EF ให้ลูกได้อย่างไร

ด้านการควบคุมตนเอง เมื่อต้องทำงานที่ไม่สนุก เด็กต้องใช้ความพยายามอย่างหนักในการควบคุมตนเองให้ทำงานที่รับผิดชอบให้เสร็จ และสามารถประวิงเวลาที่จะมีความสุขได้
ด้านยั้งคิดไตร่ตรอง ผึ้งน้อยต่างรู้ว่าการอู้งานทำให้ไม่มีน้ำหวานเก็บไว้กิน จึงปรับปรุงตัวใหม่ ขยันช่วยกันหาน้ำหวานตามเดิม
ด้านวางแผน จัดระบบ ดำเนินการ ผึ้งน้อยแบ่งหน้าที่ช่วยเหลือกันทำงานเก็บน้ำหวาน เพื่อให้ไปงานที่ได้รับมอบหมายสำเร็จโดยเร็ว
 

#สอนลูกให้มีความรับผิดชอบ #ปลูกฝังความรับผิดชอบ #ช่วยกันนะผึ้งน้อย #นิทานก่อนนอน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้