6 วิธีเลี้ยงลูกให้เข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศ
ในอดีตเราถูกสอนว่า เพศมีสองเพศ ได้แก่ เพศชาย และเพศหญิง และมี stereotype ที่ยึดถือกันสืบมาว่า เด็กผู้หญิงอ่อนโยน บอบบางน่าทะนุถนอม ชอบสีชมพู ชอบเล่นตุ๊กตา ส่วนเด็กผู้ชายเข้มแข็งอดทน ชอบเล่นหุ่นยนต์ ชอบเตะบอล เมื่อไรก็ตามที่มีคนที่บุคลิกต่างไปจากนี้ สิ่งที่เห็นตามมาคือ เด็กกลุ่มนี้มักจะถูกล้อ ถูกแกล้ง ถูกบูลลี่ และไม่ค่อยมีเพื่อน
แต่ในปัจจุบันที่มีการเปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น พ่อแม่ควรสอนให้ลูกเคารพและยอมรับในความเท่าเทียมทางเพศ โลกนี้ไม่ได้มีแค่เพศชาย และเพศหญิงเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย
พ่อแม่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศที่ลูกสามารถพบเห็นได้ในชีวิตประจำวันให้ลูกเข้าใจได้ง่ายๆ เช่น คนเรามีเพศสภาพที่ติดตัวแต่ตั้งแต่เกิด คือ เพศชาย และเพศหญิง และคนส่วนใหญ่ก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นแบบนั้น แต่ก็จะมีบางคนที่ลักษณะติดใจไม่ตรงกับเพศสภาพ จึงแสดงออกไม่ตรงกับเพศสภาพของตัวเอง บางคนภายนอกเป็นผู้ชาย แต่ในใจเขาเป็นผู้หญิง เขาจึงแสดงออกแบบผู้หญิง เช่น ไว้ผมยาว นุ่งกระโปรง แต่งหน้า ทาเล็บ ส่วนบางคนภายนอกเป็นผู้หญิง แต่ในใจรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย ก็จะตัดผมสั้น แต่งตัวแมนๆ แบบผู้ชาย เป็นต้น
นอกจากนี้ ความรักไม่ได้เกิดขึ้นระหว่างผู้ชายและผู้หญิงเท่านั้น บางคนอาจรักเพศเดียวกัน เช่น ผู้หญิงอาจชอบผู้หญิงด้วยกัน ผู้ชายอาจชอบผู้ชายด้วยกันก็ได้ ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่โรคหรือความผิดแปลกที่น่ารังเกียจ ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน
พ่อแม่จะเป็นแบบอย่างให้ลูกได้อย่างไร มาเรียนรู้ วิธีสอนลูกให้เข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศ ไปพร้อมๆ กัน
LGBTQ+ คืออะไร
LGBTQ+ ใช้แทนคำเรียกกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดย LGBTQ+ ย่อมาจาก
L = Lesbian กลุ่มผู้หญิงที่มีรสนิยมชอบผู้หญิง
G = Gay กลุ่มชายมีรสนิยมชอบชาย
B = Bisexual กลุ่มมีรสนิยมชอบทั้งผู้ชายและผู้หญิง
T = Transgender กลุ่มคนข้ามเพศ ที่เปลี่ยนแปลงเพศสภาพจากเพศชายเป็นเพศหญิง หรือเพศหญิงเป็นเพศชาย
Q = Queer กลุ่มคนที่พึงพอใจต่อเพศใดเพศหนึ่ง โดยไม่ได้จำกัดในเรื่องเพศ และความรัก
+ = ความหลากหลายทางเพศด้านอื่นๆ เช่น
I Intersex คือ กลุ่มคนที่มีสองเพศ (ในทางการแพทย์) ทั้งโครโมโซม และอวัยวะเพศ
A Asexual คือ กลุ่มคนที่ไม่รู้สึกดึงดูดทางเพศกับผู้อื่น
วิธีสอนลูกให้เข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศ
เป็นแบบอย่างที่ดี
เด็กเล็กจะเรียนรู้จากการเลียนแบบสิ่งที่พ่อแม่ทำ พ่อแม่จึงควรเป็นต้นแบบที่ดีในการยอมรับและเคารพในความหลากหลายทางเพศ ไม่วิจารณ์ ไม่แสดงท่าทีรังเกียจ หรือด้อยค่าคนที่แตกต่างจากตัวเอง ปฏิบัติกับทุกคนในแบบเดียวกัน เมื่อลูกเห็นก็จะเรียนรู้ว่าความหลากหลายเป็นเรื่องปกติ ทุกคนสามารถมีความสุขได้ในแบบของตัวเอง
เปิดโอกาสให้ลูกได้เจอเพื่อนที่แตกต่างหลากหลาย
ให้ลูกได้ทำกิจกรรมนอกบ้าน ที่มีโอกาสได้เจอเพื่อนใหม่ๆ เช่น การเล่นกีฬา การเข้าค่ายปิดเทอม หรือเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มตามที่ความสนใจของลูก ลูกจะได้รู้จักพูดคุยกับเพื่อนที่แตกต่างหลากหลาย ได้เรียนรู้ความคิดและชีวิตที่แตกต่างกันของแต่ละกัน เพื่อที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความเข้าใจ
เปิดใจยอมรับ
บางครั้งอาจเป็นพ่อแม่เองที่ยังไม่เปิดใจยอมรับความแตกต่าง อยากให้ลูกมีพฤติที่เหมาะกับเพศของตัวเอง และเริ่มกังวลว่า การที่ลูกสนใจสิ่งที่ไม่ตรงกับเพศของตน เช่น เด็กผู้ชายชอบเล่นตุ๊กตา เด็กหญิงชอบเล่นฟุตบอล จะเป็นสัญญาณว่าลูกเป็น LGBTQ+ หรือไม่
พ่อแม่ต้องเข้าใจว่า พฤติกรรมของเด็กเล็ก เกิดจากการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมรอบตัว และเลียนแบบสิ่งที่เขาสนใจ เขาอาจไม่ได้รู้ความหมายแฝงของสิ่งนั้น ที่เขาแสดงออกแบบนั้น อาจเพียงแค่อยากเล่นกับเพื่อน หรือพี่น้องเท่านั้น อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าลูกเป็น LGBTQ+
และถึงแม้ว่าลูกจะเป็น LGBTQ+ ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ ทำให้ลูกรู้ว่า พ่อแม่ยอมรับในตัวเขาเสมอ เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจในตัวตนของตัวเองและเติบโตอย่างมีความสุขนั้น ครอบครัวต้องเปิดใจยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น
งานวิจัยพบว่า 90% ของเด็กกลุ่มที่พ่อแม่ยอมรับ เชื่อว่าตัวเองจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข แต่เด็กที่พ่อแม่ไม่ยอมรับมีเพียงแค่ 10% ที่คิดว่าตัวเองจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีความสุข
สอนให้ลูกเห็นคุณค่าในตัวเอง
พ่อแม่ที่เอาใจใส่ลูกอย่างใกล้ชิด เปิดโอกาสให้ลูกได้ลองทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง พูดคุย และรับฟังลูกเสมอ จะช่วยให้ลูกเติบโตอย่างเข้มแข็ง เห็นคุณค่าในตัวเอง และกล้าเปิดใจพูดคุยกับพ่อแม่มากกว่าเลือกที่จะปิดบังไว้
บอกลูกว่า ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน ทุกคนล้วนมีคุณค่าในตัวเอง แม้ว่าใครจะไม่เข้าใจ แต่พ่อแม่เข้าใจและเห็นคุณค่าของลูกเสมอ อย่าด้อยค่าตัวเอง และสอนให้ลูกปกป้องตนเองจากการโดนละเมิดหรือกลั่นแกล้งด้วย
สอนให้ลูกเคารพและให้เกียรติคนอื่น
การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ต้องเรียนรู้และยอมรับว่าคนเรามีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องรูปร่าง หน้าตา สีผิว สีผม เพศ รวมถึงความคิด ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม ฐานะทางสังคม หรือแม้แต่ทัศนคติทางการเมือง ทุกคนไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน ทำเหมือนกัน ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น หรือเลือกสิ่งที่ตัวเองต้องการได้ เราต้องเคารพและให้เกียรติคนอื่น เหมือนที่อยากให้คนอื่นเคารพและให้เกียรติเราเช่นกัน
สอนผ่านสื่อสำหรับเด็ก
พ่อแม่สามารถใช้เครื่องมือช่วยสอน เช่น อ่านนิทานก่อนนอนที่สอนเกี่ยวกับความแตกต่างหลากหลาย ทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ วิถีชีวิต วัฒนธรรม รวมถึงความหลากหลายทางเพศ ชวนคุย ตั้งคำถาม และสอดแทรกความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เพื่อให้ลูกค่อยๆ ซึมซับทัศนคติที่ดี ยอมรับในความแตกต่าง ผ่านการเรียนรู้อย่างสนุกสนาน
ชุดนิทานก่อนนอน สอนลูกให้เข้าใจและยอมรับความหลากหลายทางเพศ สำหรับเด็ก 1-6 ปี
พ่อเพนกวินทั้งสองของผม นิทาน EF ของพ่อกับลูกยุคใหม่ที่มีพ่อเป็นไอดอลสุดสนุก เสริมทักษะชีวิต ให้เด็กมีความเข้าใจและยอมรับในความหลากหลายทางเพศ เหมือนพ่อแบล็กกับพ่อไวต์ เพนกวินคู่รัก ที่เข้าไปช่วยเหลือเด็กๆ จากเหตุภูเขาหิมะถล่มตอนแข่งขันไถลน้ำแข็งประจำปีของลูกเพนกวินทั้งหลาย ทำเรื่องร้ายให้ลงท้ายกลายเป็นความสนุกของเด็กๆ จนพ่อแม่เพนกวินทุกตัวชื่นชมและไม่มองพ่อแบล็กกับพ่อไวต์ว่าแปลกประหลาดอีกต่อไป
พ่อคือเสาหลัก พัฒนา EF ของลูก
“ชุดนิทานก่อนนอน” นิทาน EF เรื่อง พ่อเพนกวินทั้งสองของผม ช่วยพัฒนา EF ให้ลูกได้อย่างไร
● ด้านจำเพื่อใช้งาน เด็กได้เรียนรู้ว่าชายรักหญิง ชายรักชาย หรือหญิงรักหญิง เป็นเรื่องปกติธรรมดา และยอมรับความหลากหลายทางเพศได้
● ด้านควบคุมอารมณ์ และ วางแผน ดำเนินการ พ่อแบล็กกับพ่อไวต์ในเรื่อง เป็นตัวอย่างของการมีสติ ไม่ตกใจกลัว ตื่นตระหนก สามารถเข้าไปช่วยเด็กๆ จากเหตุการณ์ภูเขาหิมะถล่มได้อย่างปลอดภัย
#ความหลากหลายทางเพศ #LGBTQ+ #นิทานEF #นิทานก่อนนอน #พ่อเพนกวินทั้งสองของผม