Pass Education Co.,Ltd
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
พาส เอ็ดดูเคชั่น สวัสดีจ้า
เริ่มแชท

10 วิธีเลี้ยงลูกให้ “พี่น้องรักกัน” ไปจนโต

10 วิธีเลี้ยงลูกให้ “พี่น้องรักกัน” ไปจนโต

10 วิธีเลี้ยงลูกให้ “พี่น้องรักกัน” ไปจนโต

พ่อแม่มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องที่แน่นแฟ้น ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้องจะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิต  พวกเขาจะคอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน และรักกันไปจนโต เมื่อคุณแม่ตัดสินใจมีลูกอีกคน คุณแม่ควรเตรียมรับมืออย่างไร นี่คือ 10 วิธีเลี้ยงลูกให้ พี่น้องรักกัน ไปจนโต

1.       ทำให้พี่รู้สึกดีกับน้อง

อย่าบอกให้พี่รักน้อง หรือพี่ต้องเสียสละให้น้อง เพราะการทำให้พี่รู้สึกต้องสูญเสียอะไรไป ไม่อาจสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ตั้งแต่เริ่มต้น เราบังคับให้ใครรักกันไม่ได้ แต่ควรเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์เชิงบวก ทำให้พี่รู้สึกดีกับน้อง และรู้สึกดีกับตัวเอง รู้สึกว่าการมีน้องเป็นเรื่องที่ดี ทำให้มีเพื่อนเล่น มีคนคอยดูแลกัน เมื่อพี่ได้รับความรักจากพ่อแม่มากพอ ความรักก็จะล้นไปที่น้องเอง

2.       อย่าคาดหวังให้เขารักกันในทันที

แม้คุณแม่จะเตรียมความพร้อมของพี่มาเป็นอย่างดีตลอด 9 เดือน แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะรักกันทันทีที่น้องเกิดมา ต้องใช้เวลาให้เขาได้อยู่ด้วยกัน ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันให้มากที่สุด ปล่อยให้พี่น้องผิดใจกันบ้าง ทะเลาะกันบ้าง เพื่อจะได้เรียนรู้กันและกัน เมื่อนั้นความรักจึงเกิด

3.       ให้ความสำคัญกับพี่มากกว่าเล็กน้อย

ควรให้ความสำคัญกับพี่มากกว่าเล็กน้อย ในฐานะที่พี่เกิดก่อน แต่ไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่ลำเอียง หรือรักพี่มากกว่า เพราะในความจริง พ่อแม่รักลูกเท่ากันเสมอ แต่ที่พี่มีสิทธิ์ได้มากกว่า เพราะพี่ช่วยพ่อแม่ดูแลน้องไงล่ะ

4.       พี่น้องตีกัน ให้จับแยก

หากพี่น้องทะเลาะกันเพราะแย่งของเล่น ให้รอสักพัก ให้เขาหาทางออกกันเอง เป็นการฝึกทักษะการร่วมกัน แต่หากลูกตีกัน ทำร้ายกัน พ่อแม่ควรจับแยกให้ไปอยู่คนละมุมห้องทันที และบอกลูกทั้งสองช้าๆ ชัดๆ ว่า ดีกันเมื่อไหร่ก็ออกมาเล่นด้วยกันได้อีก พ่อแม่จะวางของไว้ตรงกลางห้องเหมือนเดิม จากนั้นก็ออกไปทำอย่างอื่น ลูกทั้งสองจะหาวิธีปรองดองกันได้เอง และไม่จำเป็นต้องพยายามหาว่าใครเริ่มก่อน หรือตัดสินว่าใครผิดใครถูก

5.       สอนลูกให้เห็นคุณค่าความแตกต่างของกันและกัน

ลูกสองคนอาจมีบุคลิก นิสัย ความสนใจ และอารมณ์ที่แตกต่างกันมาก คนหนึ่งอาจชอบอยู่เงียบๆ ส่วนอีกคนอาจชอบเสียงดัง มีกิจกรรมให้ทำตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ สิ่งสำคัญคือการสอนลูกให้เคารพความแตกต่างเหล่านั้น ให้เขาช่วยกันวางแผนว่าจะผลัดกันทำกิจกรรมที่แต่ละคนสนใจ หรือว่าจะหากิจกรรมอื่นที่สนใจร่วมกัน ที่สามารถสนุกไปด้วยกันได้ทั้งสองคน ครอบครัวที่สนุกสนานจะมีโอกาสขัดแย้งกันน้อยกว่า

 
6.       ให้ลูกแท็กทีมกันทำงานบ้าน

วิธีหนึ่งที่จะสร้างความรู้สึกถึงการทำงานเป็นทีมและความร่วมมือกัน คือการให้ลูกได้มีทำงานเป็นทีม โดยอาจให้ลูกช่วยกันทำงานบ้านที่เหมาะสมกับอายุและความสามารถของเขา เช่น กวาดบ้านหรือช่วยเตรียมอาหารเย็น และแบ่งเป็นทีมเด็กกับทีมผู้ใหญ่ แข่งกันว่าทีมไหนจะทำงานบ้านเสร็จก่อนกัน

การทำให้เด็กเป็นทีมเดียวกัน ยังช่วยกระตุ้นทักษะสมอง EF ให้เด็กๆ ทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน คือเพื่อเอาชนะผู้ใหญ่ให้ได้อีกด้วย

7.       สอนให้ลูกฟังความคิดเห็นของกันและกัน

ความสามารถในการฟังสิ่งที่คนอื่นพูดเป็นทักษะสำคัญที่ต้องพัฒนาในเด็ก และเป็นทักษะที่ช่วยให้พวกเขาเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและมองสิ่งต่างๆ จากมุมมองของผู้อื่น ซึ่งพี่น้องจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะฟังและพยายามทำความเข้าใจความคิดเห็นของกันและกัน

8.       สอนความสำคัญของการเคารพกัน

การรับฟังเป็นวิธีหนึ่งในการแสดงความเคารพซึ่งกันและกัน และความเคารพเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเพื่อน คนรัก หรือพี่น้อง สอนลูกว่าพวกเขาควรปฏิบัติต่อผู้อื่นในแบบที่พวกเขาอยากให้ได้รับการปฏิบัติเช่นกัน

การแสดงความเคารพอาจรวมถึงการพูดคุยกันโดยใช้น้ำเสียงที่ดีหรืออย่างน้อยก็ไม่ใช่น้ำเสียงที่ไม่น่าพอใจ แม้ว่าจะไม่เห็นด้วยก็ตาม รวมไปถึงเคารพในพื้นที่ส่วนตัวและสิ่งของส่วนตัวของอีกฝ่ายด้วย

9.       เน้นย้ำเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว

อธิบายให้ลูกฟังและเน้นย้ำเป็นระยะว่าความรักในครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรักของพี่น้องเป็นความรักที่แน่นแฟ้น แม้ว่าตอนนี้ลูกอาจจะชอบอยู่กับเพื่อนมากกว่าพี่น้อง แต่ลูกจะเห็นความสำคัญต่อกันมากขึ้นเมื่อโตขึ้น

แม้ว่าลูกอาจยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ฉันท์พี่น้องอย่างถ่องแท้ แต่การเน้นย้ำจะทำให้พวกเขาเรียนรู้ได้ในที่สุดเมื่อโตขึ้น

10.   ใช้นิทานเป็นสื่อสายใยรักพี่น้อง

นิทานเป็นเครื่องมือที่ดีในการสอนให้เด็กอย่างแนบเนียน ลองหาหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์อันดีระหว่างพี่น้อง พี่น้องรักกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ซึมซับความรักของพี่น้องจากตัวละครในนิทาน นำมาเป็นตัวอย่างช่วยให้ลูกรู้จักจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกันได้ดี

นิทานก่อนนอน สอนให้พี่น้องรักกัน สำหรับเด็ก 1-6 ปี

แม่รักลูกนะหมีน้อย นิทานภาพคำกลอน สอนให้พี่น้องรักกัน ปลูกฝังความรักใคร่กลมเกลียวกัน ผ่านเรื่องราวความรักของแม่และหมีน้อยทั้งสี่ แม่หมีพาลูกๆ ไปท่องป่า จุดหมายคือธารน้ำ เมื่อไปถึงแม่หมีก็สอนลูกๆ จับปลา หลังกินอิ่มก็นอนเล่นกัน แล้วลูกหมีตัวเล็กก็ร้องไห้เพราะถูกพี่เล่นแรงโดยไม่ตั้งใจ แต่ไม่นานพี่น้องก็กลับมาคืนดีกัน สุดท้ายทุกตัวช่วยกันเก็บน้ำผึ้งบนต้นไม้สูงลงมาแบ่งกันกินอย่างมีความสุข

รักของแม่ พัฒนา EF ของลูก

 “ชุดนิทานก่อนนอน” นิทาน EF เรื่อง แม่รักลูกนะหมีน้อย ช่วยพัฒนา EF ให้ลูกได้อย่างไร

1.       ด้านจำเพื่อใช้งาน หมีน้อยทั้งสี่รู้ว่าถ้าต่อตัวช่วยกันจะสามารถเก็บน้ำผึ้งจากรังที่อยู่บนต้นไม้สูงได้

2.       ด้านควบคุมอารมณ์ หมีน้อยพี่น้องทะเลาะกัน แต่ก็คืนดีและให้อภัยกัน

3.       ด้านวางแผน จัดระบบ ดำเนินการ แม่หมีสอนวิธีและเทคนิคจับปลาในลำธารให้ลูกหมี ซึ่งทะตัวสามารถทำได้เป็นอย่างดี

#พี่น้องรักกัน #จิตวิทยาพี่น้อง #แม่รักลูกนะหมีน้อย #นิทานก่อนนอน

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้