สอนลูกให้รู้จักให้อภัย โตไปไม่แบกความทุกข์
เวลาที่เรารู้สึก "โกรธ" หรือ "โมโห" ตัวผู้ใหญ่อย่างเรา ยังกำจัดความรู้สึกนั้นออกจากใจได้ยาก เพราะการให้อภัยเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝน การฝึกให้ลูกรู้จักยกโทษให้ผู้อื่นหรือ "สอนลูกรู้จักให้อภัย" จึงเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังตั้งแต่เล็ก ยิ่งเร็วได้ยิ่งดี เพราะการสอนลูกให้อภัยคนอื่น นอกจากจะดีต่อผู้อื่นแล้วยังเป็นเคล็ดลับ EQ ดีที่ทำให้ลูกมีความสุขอีกด้วย
สอนลูกให้รู้จัก "อารมณ์"
ก่อนที่ลูกจะให้อภัยคนอื่นได้นั้น ลูกจะต้องเรียนรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเองเสียก่อน ทั้งอารมณ์ในแง่ดีและอารมณ์ในแง่ร้าย ถ้าลูกได้รับรู้ เปิดใจ ยอมรับอารมณ์ที่ผ่านเข้ามา ก็จะเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองรู้สึก สื่อสารอารมณ์ออกมาให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราสอนลูกรู้จักให้อภัยได้ดีขึ้น การสอนลูกให้รู้จักอารมณ์ต่าง ๆ นั้น ทำได้ดังนี้
● ช่วยลูกระบุอารมณ์ที่เกิดขึ้นในทันที เช่น "ลูกชอบเล่นลูกบอลใช่ไหมคะ เล่นแล้วสนุก หนูมีความสุขใช่ไหมลูก" แต่ถ้าเป็นอารมณ์ด้านลบอย่างอารมณ์โกรธหรือเสียใจ ให้เด็กสงบลงก่อนค่อยอธิบายและชวนลูกคุยถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้น
● บอกลูกถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์นั้น เช่น "คุณพ่อไม่ว่างพาไปเที่ยว แล้วหนูร้องไห้ เพราะหนูรู้สึกเสียใจที่คุณพ่อไม่ทำตามสัญญา สิ่งที่หนูรู้สึกอยู่เรียกว่า ความเสียใจ" พร้อมกันนั้นต้องเปิดใจรับฟัง และบอกลูกด้วยว่า "แม่เข้าใจที่หนูรู้สึกเสียใจ" การที่มีคนเข้าใจจะช่วยให้เด็กเข้าใจและรับรู้อารมณ์ตัวเอง ทั้งยังเป็นจุดเริ่มต้นในการเห็นใจคนอื่นด้วย
● ให้ลูกหัดเขียนบันทึก ช่วยลูกสังเกตอารมณ์ บอกให้ลูกเข้าใจถึงความรู้สึกที่เชื่อมโยงจากสถานการณ์นั้น แล้วช่วยกันจดบันทึก เช่น "วันนี้ไปเที่ยวสวนน้ำมาสนุกมาก ๆ พวกเรายิ้มกันทั้งวัน คุณแม่บอกว่าที่เรายิ้ม หัวเราะ เพราะเรามีความสุข"
● ฝึกให้ลูกรู้เท่าทันอารมณ์ เปิดใจยอมรับทั้งอารมณ์ด้านบวกและอารมณ์ด้านลบ โดยอธิบายว่า ความรู้สึกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นเรื่องธรรมดา ทั้งความรู้สึกดีและความรู้สึกไม่ดี เมื่อเด็กค่อย ๆ ยอมรับอารมณ์ตัวเองได้ก็จะเริ่มจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้น
● จัดการกับอารมณ์และเรียนรู้ผลกระทบ อารมณ์ความรู้สึกจะส่งออกมาเป็นการกระทำและคำพูด ลูกจะต้องเรียนรู้ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในแต่ละครั้งเพื่อฝึกการควบคุมอารมณ์ เช่น "หนูโกรธแล้วไปว่าพี่แอนแบบนั้น พี่แอนเสียใจนะคะลูก ลองคิดดูว่าถ้าหนูโดนว่าแบบนั้นลูกจะเสียใจไหม" หรือถ้าลูกโมโหแล้วปาของเล่นจนพัง เมื่อลูกอารมณ์สงบลงแล้วก็ชวนมาเปิดใจพูดคุยกัน แล้วให้ลูกฝึกความรับผิดชอบจากสิ่งที่เกิดขึ้น เช่น หักค่าขนมเป็นค่าของเล่น
● กำหนดขอบเขตพฤติกรรมที่จะแสดงออก สอนให้ลูกเข้าใจว่าอารมณ์ ความรู้สึกทุกชนิดเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่พฤติกรรมที่จะแสดงออกนั้นแบบไหนควรทำ แบบไหนไม่เหมาะสม โดยพูดกับลูกด้วยน้ำเสียงปกติ ไม่ทำให้ลูกรู้สึกแย่ แล้วค่อย ๆ สอนเมื่อเด็กอารมณ์สงบลงแล้ว พร้อมกับแนะนำวิธีจัดการอารมณ์ด้านลบให้ลูกนำไปใช้ในครั้งหน้า เช่น "ถ้าลูกโกรธ ครั้งหน้ามาระบายสีด้วยกันกับแม่นะ" เมื่อลูกจัดการอารมณ์ได้ดีขึ้นก็ควรชมเชยเพื่อเป็นกำลังใจให้ลูกด้วย
การสอนลูกให้จัดการอารมณ์ด้านลบของตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงในอนาคต โดยพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ใช้อารมณ์หรือความรุนแรง เพราะพื้นฐานการจัดการอารมณ์ของเด็กนั้นสัมพันธ์กับพื้นฐานครอบครัว ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับลูก ลูกจะรู้สึกสบายใจที่จะพูดคุยเวลามีปัญหา ไม่เก็บกดไว้เพียงคนเดียว
เมื่อเด็กเข้าใจและเรียนรู้ถึงอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้แล้ว หากต้องรับมือกับความผิดหวังหรือความเสียใจ ก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นต่อการ "ให้อภัย"
เคล็ดลับสอนลูกให้อภัยคนอื่น
การฝึกให้อภัยเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่สร้างเสริมความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient-EQ) เพราะการให้อภัยนั้นเป็นการเข้าใจถึงความรู้สึกของผู้อื่นว่าอีกฝ่ายรู้สึกผิด ไม่สบายใจจากคำพูดจาหรือการกระทำที่ทำลงไป การให้อภัยยังเป็นผลดีต่ออารมณ์และความรู้สึกของเราด้วยเช่นกัน ซึ่งเคล็ดลับการสอนลูกรู้จักให้อภัยทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
1. ฝึกให้ลูกเอาใจเขามาใส่ใจเรา
การฝึกลูกให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่นเป็นพื้นฐานของการสอนให้ลูกรู้จักอภัย โดยสมมติให้ลูกเป็นฝ่ายทำผิด เช่น "หนูทำปากกาของน้องแมนหาย แล้วน้องแมนไม่ยอมยกโทษให้หนูจะรู้สึกอย่างไร" ฝึกให้เด็กค่อย ๆ ตรึกตรองความรู้สึกที่เกิดขึ้น อาจจะช่วยให้เด็กเข้าใจง่ายขึ้นด้วยคำอธิบายเพิ่มเติม เช่น "ถ้าเราขอโทษคนอื่นแล้วเขาไม่ให้อภัย เราก็จะรู้สึกเสียใจใช่ไหมลูก"
2. ยิ่งแบกความโกรธ ใจยิ่งทุกข์
สอนให้ลูกเข้าใจความรู้สึกทุกข์ ไม่สบายใจ โกรธ เคียดแค้นที่ยังคั่งค้างอยู่ในอารมณ์ พร้อมกับแนะนำลูกว่า โทษของการผูกใจเจ็บจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ดี โดยเด็กเล็ก ๆ อาจยังไม่เข้าใจถึงความรู้สึกนั้นจึงต้องยกตัวอย่างง่าย ๆ เช่น "เวลาหนูโกรธแล้วคิ้วขมวด ไม่น่ารักเลย แม่ชอบตอนที่หนูอารมณ์ดียิ้มแย้มมากกว่า"
3. รับฟังว่าลูกรู้สึกอย่างไร
ลูกต้องการคนที่รับฟังอย่างตั้งใจและเข้าใจว่าเขากำลังรู้สึกอะไร เมื่ออารมณ์มากมายเกิดขึ้น ทั้งความรู้สึกโกรธหรือเสียใจ ลูกจะอยากระบายถึงสิ่งที่อัดอั้น ปล่อยให้ลูกได้พูด ซักถามถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เมื่อลูกอารมณ์สงบลงแล้วจึงสอนลูกให้เข้าใจคำว่า "ไม่เป็นไร" ซึ่งแสดงออกว่า เรายอมยกโทษให้คนนั้น แต่การให้อภัยไม่ได้แสดงว่าเห็นด้วยกับสิ่งที่ทำ หากเป็นการทำให้จิตใจของเราสงบ ไม่แบกความโกรธเอาไว้ และยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้อีกด้วย
4. ให้ลูกได้เขียนระบายความรู้สึก
ถ้าลูกระบายออกมาด้วยคำพูดแล้ว ลูกยังรู้สึกไม่สบายใจ ก็ให้ลูกได้ลองเขียนระบายสิ่งที่รู้สึกเพื่อลดความเครียด บรรเทาอาการเก็บกดในใจ จะเขียนเป็นข้อความหรือวาดเป็นรูปก็ได้ เพื่อเป็นการปลดปล่อยความโกรธ ทั้งยังช่วยให้เด็กได้ทบทวนความคิดตัวเองอีกด้วย
5. เรียนรู้การให้อภัยจากผู้อื่น
สอนให้ลูกรู้จักความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ หรือเราเผลอไปทำให้คนอื่นรู้สึกเสียใจและโกรธเคือง หากมีสถานการณ์ที่ลูกเคยขอโทษจากความผิดที่ก่อขึ้น สามารถนำเหตุการณ์นั้นมาสอนลูกให้รู้จักอภัยผู้อื่น พร้อมกับบอกด้วยว่า คนเราควรให้อภัยกันและกันเพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข
6. สอนการให้อภัยผ่านการแข่งขัน
ไม่ว่าจะเป็นการสอบ กีฬา หรือการเล่นเกม ก็ล้วนแล้วแต่มีผู้แพ้ ผู้ชนะ บางครั้งอาจเกิดการทะเลาะกัน แข่งขันกัน มีเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกฉุนเฉียวได้ง่าย ๆ แต่สุดท้าย เราทุกคนต่างต้องรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย เพื่อข้ามผ่านเรื่องราวนี้ไปได้ และยังคงความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างไว้ได้ด้วย
การสอนลูกให้รู้จักอภัยผู้อื่นเป็นพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนในสังคม เพราะทุกคนมีโอกาสที่จะทำผิดพลาดได้ แม้แต่ตัวลูกเองก็คงรู้สึกไม่สบายใจ หากไม่ได้รับการอภัยจากผู้อื่น นอกจากนี้ การปล่อยวางความรู้สึกด้านลบ ไม่แบกความทุกข์เอาไว้ ยังช่วยให้ลูกใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ไม่เก็บกดความโกรธแค้นที่เกิดขึ้น
นิทาน “ปิงปิงไม่เป็นไรค่ะ” ปลดปล่อยความโกรธ ด้วยการให้อภัยผู้อื่น
สอนลูกให้รู้จักอารมณ์ที่เกิดขึ้นและสอนลูกรู้จักให้อภัย ด้วยหนังสือนิทาน “ปิงปิงไม่เป็นไรค่ะ” เมื่อเกิดสถานการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ "ปิงปิง" เรียนรู้ที่จะให้อภัยได้อย่างไร นิทานปิงปิงเล่มนี้จะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำมาสอนลูกเรื่องการให้อภัยได้ง่ายยิ่งขึ้น
“ปิงปิงไม่เป็นไรค่ะ” ยังช่วยให้ลูกได้ฝึกคิดเพื่อพัฒนาทักษะทางสมอง EF ได้อีกด้วย โดยตั้งคำถามเพื่อให้ลูกฉุกคิดผ่านเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิทาน "ถ้าลูกเป็นปิงปิงจะทำอย่างไร" หรือ "ถ้าปิงปิงต่อว่าน้องที่ล้มทับเจดีย์ทรายโดยไม่ตั้งใจ หนูคิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น" ช่วยให้ลูกได้ฝึกการคิดยืดหยุ่น ลองชวนลูกสังเกตและตั้งคำถามร่วมกัน จะช่วยให้เด็กได้พัฒนา EF ซึ่งสำคัญต่อการใช้ชีวิตของลูก