รู้ไหมเด็กไม่ได้อยากฟังนิทาน?
พ่อแม่ส่วนใหญ่รู้ว่าอ่านนิทานให้ลูกฟังเป็นเรื่องดี
แต่ปัญหาสมัยนี้คือ เราไม่มีเวลาอ่าน แค่งานประจำก็เหนื่อยจะแย่แล้ว
ต้องยอมรับว่า พ่อแม่ยุคนี้ต้องช่วยกันทำงานหาเงิน
กลับมาไหนจะงานบ้านอีก บางคนหอบงานกลับมาทำด้วย
ที่พอจะแนะนำได้คือ ยอมเหนื่อยอีกนิดให้ลูก
เอาแค่วันละไม่เกิน 30 นาที ถ้าไม่ได้จริงๆ เอา 15 นาทีก็ได้
อ่านนิทานให้ลูกฟัง ตั้งเป็นกติกากับลูกไว้เลยแบบนี้
ทำทุกวันก่อนนอนง่ายที่สุด หรือจะอ่านคืนละ 3 เล่มก็ได้ให้ลูกเลือกมา
เหนื่อยนั่นแหละ...แต่มันคือการลงทุนที่ใช้แค่เวลาจริงๆ
แต่ได้ผลกำไรเกินคุ้มมากๆ คือ ลูกจะไว้ใจเรา สอนอะไรก็เชื่อ
บอกอะไรก็ทำตามง่าย โตไปก็ไม่สร้างเรื่องปวดหัวให้
ถ้าว่าตามตรงก็คือ ลูกไม่ได้อยากฟังนิทานที่คุณเล่า
แต่เขาอยากได้เวลาอยู่กับคุณมากๆ มากกว่า
และอ่านนิทานสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ดีที่สุด
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -
#ชุดBookstart หนังสือเล่มแรกของลูกที่ใช้อ่านก่อนนอน
การอ่านนิทานเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ที่อ่านหนังสือออกทำได้ง่าย มีคำแนะนำง่ายๆ สั้นๆ ดังนี้
1. อ่านนิทานเรื่องอะไรก็ได้ที่มี ไม่จำเป็นต้องซื้อหานิทานราคาแพง ไม่จำเป็นต้องมีภาพประกอบสวยงาม ไม่จำเป็นต้องพะวงเรื่องอายุของลูก ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าเล่มไหนเหมาะกับอายุเท่าไร หลักการสำคัญคือคนอ่านสนุกก่อน คุณพ่อคุณแม่นั่นแหละที่สนุกกับการอ่านก่อน ไม่รู้สึกเบื่อหน่ายหรือถูกบังคับให้อ่าน ความสนุกที่แผ่เป็นออร่าจากร่างกาย สีหน้าและจิตใจของคุณพ่อคุณแม่เองจะเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าเรื่องอื่น
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่เคยอ่านนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กมาก่อนเลย ลองอ่านดูเถอะ หลายท่านเพิ่งจะค้นพบว่ามันสนุกมากกว่าที่ตัวเองเคยรู้
2. อ่านไปธรรมดาๆ ไม่มีความจำเป็นต้องดัดเสียงดัดแปลง ออกท่าออกทาง หรือทำเรื่องให้ตื่นเต้นโดยเจตนา ขอแค่อ่านไปเรื่อยๆ จากหน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้าย จะเห็นว่าขอเพียงอ่านหนังสือออกคืออ่านนิทานก่อนนอนได้ ไม่ต้องฝึก ไม่ต้องเรียนคอร์สเล่านิทาน ตอนนี้เราขอน้อยมากคือแค่อ่านออกแล้วอ่านไป ให้ลูกฟัง
อ่านภาษาที่ตัวเองถนัด หากคุณพ่อคุณแม่ถนัดภาษาไทยอ่านภาษาไทย หากถนัดภาษาอังกฤษอ่านภาษาอังกฤษ หากคุณพ่อคุณแม่ถนัดคนละภาษา อ่านภาษาแม่ของตัวคนละภาษา แต่มีข้อแนะนำทั่วไปว่าการอ่านนิทานก่อนนอนสำหรับเด็กควรอ่านภาษาเดียว ไม่อ่านสองภาษา
3. อ่านตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงวันที่เขาเติบใหญ่และไม่ต้องการฟังแม่อ่านนิทานอีกแล้ว ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งระหว่างอายุ 7-9 ขวบ เริ่มอ่านตรงเวลาแต่ไม่ควรเกิน 21.00 น. เพราะเด็กๆ ไม่ควรนอนดึก ความตรงเวลาจะช่วยให้เด็กๆ ตั้งตารอ รอคือมี คุณพ่อคุณแม่หลายบ้านอยู่ในสภาวะยากลำบากต้องทำงานจนค่ำ ลูกจะรอเวลานั้นทั้งวัน รอทั้งวันคือมีทั้งวัน มีอะไร? มีพ่อแม่ที่มีอยู่จริง
เรื่องทุกเรื่อง กิจกรรมทุกประเภท เราสามารถกำหนดเวลาได้ รวมทั้งการอ่านนิทาน การกำหนดกติกาอ่านคืนละครึ่งชั่วโมงหรืออ่านนิทานจำนวน 3-5 เล่ม หรือ 3-5 เรื่อง แล้วแต่ว่าจำนวนไหนจะถึงก่อนกันเป็นเรื่องที่เราสามารถพูดคุยกับลูกและตกลงกติกาล่วงหน้าได้
และนี่จะเป็นต้นแบบของการกำหนดกติกาเรื่องอื่นๆ ที่ยากกว่าในอนาคต เช่น กติกาดูการ์ตูนโทรทัศน์ กติกาเล่นเกม กติกาใช้สมาร์ทโฟน เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่จำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณพ่อคุณแม่ชนชั้นกลาง ไม่ว่าจะเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ระดับกลางหรือระดับสูง เกือบทุกครัวเรือนเหน็ดเหนื่อยจากงานประจำวัน บางคนหอบงานกลับมาทำบ้าน บางคนมีภารกิจงานบ้านต้องสะสาง ดังนั้นการกำหนดกติกาเวลา 30 นาทีเป็นเรื่องมีประโยชน์มาก สอนให้ลูกเข้านอนตรงเวลา แล้วเราถอยออกมาทำงานได้ ทุกคนได้
อ่านอะไรก็ได้ อ่านไปธรรมดาๆ และอ่านสามสิบนาที เป็นสามประการที่ควรจะทำได้
อ่านนิทานก่อนนอนเป็นการลงทุน ทุนที่ลงไปวันนี้และใน 1,000 วันนับจากลูกเกิดไปจนถึงอายุ 3 ขวบคือเครื่องมือสร้างแม่ที่มีอยู่จริง อันเป็นฐานรากของความเป็นมนุษย์ ผลกำไรจะออกดอกออกผลในวันถัดๆ ไป และเก็บเกี่ยวกำไรไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ไม่สามารถตีค่าเป็นเงินบาทได้
แต่ถ้าจะตีค่าเป็นเงินบาทกันจริงๆ แล้ว เราพบว่าบ้านที่อ่านนิทานก่อนนอนเป็นประจำสามารถประกันความเสียหายระยะยาวของเด็กๆ และวัยรุ่นได้มากกว่า นั่นหมายความว่าอนาคตเราจะสูญเสียเงินน้อยกว่าค่านิทานและค่าสูญเสียเวลา 30 นาทีต่อคืน
โลกสมัยใหม่มีนิทานออนไลน์ให้โหลดฟรีมากมาย ถ้าไม่มีเงินซื้อ ให้โหลดฟรีออกมาอ่าน ถ้าไม่มีเงินซื้อกระดาษเอสี่รีมใหม่ คอยสะสมกระดาษใช้แล้วหน้าเดียวมาพรินท์ ถ้าไม่มีเครื่องพรินท์สี พรินท์ขาวดำก็เอา ถ้าไม่สามารถทำอะไรได้ แต่งเอาเองแล้วเขียนเอาเองอย่างไรก็ได้ ครั้งหนึ่งนานมาแล้วไก่ตัวหนึ่งเดินไปพบเป็ดตัวหนึ่งแล้วพูดว่าสวัสดีครับก็ได้ ขอเพียงเห็นความสำคัญของการอ่านนิทานก่อนนอน เราจะทำมันจนได้
ลูกมิได้ต้องการนิทานจริงหรอก ลูกต้องการคุณ