9 ข้อควรทำ เมื่อลูกถูกเพื่อนล้อ
ปัญหาลูกถูกล้อ โดนบูลลี่ ส่งผลต่อสภาพจิตใจของเด็ก ทำให้ลูกเสียความมั่นใจ ไม่กล้าเข้าสังคม และส่งผลเสียต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ตามมา พ่อแม่จึงไม่ควรนิ่งนอนใจ หากลูกถูกเพื่อล้อ อย่ามองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ควรใส่ใจ ให้ความช่วยเหลือ
การล้อกันมีหลายแบบ เช่น ล้อชื่อพ่อแม่ ล้อรูปร่างสรีระ เช่น อ้วน ดำ เตี้ย ล้อสิ่งที่เป็นปมด้อย เช่น เรียนไม่เก่ง พูดติดอ่าง ขี้แพ้ ฟันเหยิน ฯลฯ การล้อกันไม่เพียงส่งผลต่อคนที่ถูกล้อเท่านั้น ยังส่งผลต่อเด็กที่ล้อ และคนอื่น รวมทั้งเพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์ด้วย
ผลกระทบต่อเด็กที่ถูกเพื่อนล้อ
เด็กที่ถูกล้ออาจมีอาการเครียด กังวล ไม่สบายใจ ซึมเศร้า ไม่อยากไปโรงเรียน มีผลกระทบต่อความรู้สึกมั่นใจในตัวเองของเด็ก หรืออาจมีอาการทางกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง นอนไม่หลับ
รับมืออย่างไร เมื่อลูกโดนเพื่อนล้อ
1. ปรับทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อการล้อ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าพ่อแม่รู้สึกว่าการที่ลูกถูกล้อไม่ใช่เรื่องใหญ่ เราจะมีท่าทีที่ไม่สนใจ เวลาลูกมาเล่าให้ฟัง ซึ่งจะตามมาด้วยการบอกลูกว่า “อย่าไปคิดมากเลยลูก ไม่มีอะไรหรอก” “ไม่เป็นไรหรอกลูก เพื่อนแค่แหย่เราเล่นเท่านั้นเอง”
2. ปรับท่าทีในการตอบสนองของพ่อแม่ ถ้าลูกโดนล้อแล้วมาเล่าให้พ่อแม่ฟัง แต่พ่อแม่มีท่าทีที่ไม่ได้สนใจอย่างจริงจัง มีแนวโน้มว่า ลูกจะไม่เล่าให้ฟังอีก
สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลูกโดนเพื่อนล้อ
1. พ่อแม่ควรรับฟังอย่างตั้งใจ เพื่อให้ลูกได้ระบายความรู้สึกออกมา ว่าเหตุการณ์เป็นอย่างไร และลูกรู้สึกอย่างไร
2. ถ้าลูกมีอารมณ์ เช่น โกรธ กังวล อาย ให้พ่อแม่ดูแลจิตใจลูกก่อน ด้วยการสะท้อนความรู้สึก เช่น หนูรู้สึกโกรธใช่ไหม หนูรู้สึกไม่สบายใจใช่ไหมที่เพื่อนมาล้อหนู
3. แสดงท่าทีอยากแก้ปัญหาร่วมกันกับลูก ลองถามเพื่อให้ลูกได้แสดงความเห็น ให้เขามีส่วนร่วมในการหาทางปัญหานี้ด้วย เช่น แล้วลูกมีวิธีจัดการกับความรู้สึกนี้อย่างไร เหตุการณ์นี้มีโอกาสเกิดได้อีกไหม ลูกจะเลี่ยงการถูกล้อได้อย่างไร
4. ชวนลูกหาวิธีตอบสนองอย่างไรในเชิงสร้างสรรค์ ที่จะไม่ทำให้ปัญหานั้นแย่ลงกว่าเดิม เช่น ไปคบเพื่อนกลุ่มอื่น ถ้าเราไปอยู่ในกลุ่มที่ไม่มีใครล้อชื่อพ่อแม่กัน ปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้น หรือถ้าลูกเราอยู่ในกลุ่มที่มีการล้อชื่อพ่อแม่กัน สอนให้ลูกลองนิ่งเฉย ทำทีไม่สนใจ ไม่ตอบสนองกลับใดๆ สักพักเพื่อนอาจล้อน้อยลง หรือหยุดไปเอง เพราะไม่สนุกแล้ว เป็นต้น
5. เมื่อลูกถูกเพื่อนล้อ สอนให้ลูกพูดเสียงดัง หนักแน่น ส่งสัญญาณให้กับเพื่อนกลุ่มนั้นรู้ว่า “เราไม่ชอบนะ หยุดล้อเดี๋ยวนี้ ถ้ายังแกล้งอีกจะบอกคุณครู” โดยส่วนใหญ่เด็กที่ถูกล้อมักมีบุคลิกดูอ่อนแอ ถ้าเขาล้อแล้วเราแสดงความรู้สึกโกรธ เขาจะมีความสุข ถ้าเราไม่ตอบสนองในแบบที่เขาพอใจ เขาก็จะเลิกล้อไปเอง
6. สื่อสารกับครูที่โรงเรียน เพื่อให้สื่อสารไปยังพ่อแม่ของเด็กที่มาล้อลูกเรา ให้ช่วยกันแก้ปัญห
7. สอนลูกให้เอาแรงผลักดันจากการที่โดนล้อ มาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในแบบที่ตัวเองต้องการจะเป็นได้
8. กรณีที่ลูกไม่ได้เล่าให้เราฟัง พ่อแม่อาจหาจังหวะพูดคุยกับลูกว่ามีเพื่อนที่โรงเรียนถูกแกล้ง ถูกล้อบ้างไหม ลูกเคยโดนเพื่อนแกล้ง เพื่อนล้อบ้างไหม บางทีลูกอาจมีประสบการณ์โดนเพื่อนแกล้ง แต่เขาไม่คิดว่าเป็นเรื่องที่พ่อแม่สนใจ ลูกก็อาจไม่เล่าให้เราฟังก็ได้
9. ชี้ให้ลูกเห็นข้อดีในตัวเอง และหมั่นชื่นชม เรื่องนี้สำคัญมากในการให้กำลังใจและสร้างความมั่นใจให้ลูก เช่น “ถึงหนูจะผิวคล้ำ แต่หนูยิ้มสวย และวาดรูปเก่ง คุณครูยังชมเลยนะ หนูไม่จำเป็นต้องผิวขาวก็เป็นคนเก่ง มีแต่คนรักได้นะ”
4 ข้อที่พ่อแม่ควรทำเมื่อลูกเราไปล้อหรือแกล้งคนอื่น
1. อย่าเพิ่งต่อว่าลูกรุนแรง ให้คุยกับเพื่อนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อเพื่อนอย่างไร ควรคุยกับลูกว่า เหตุการณ์เป็นอย่างไร อธิบายกับลูกโดยการใช้เหตุผลง่ายๆ ว่า มันส่งผลกระทบกับเพื่อนอย่างไร และสื่อสารว่าพ่อแม่ไม่ยอมรับการที่ลูกไปล้อไปแกล้งคนอื่น
2. ถ้าเตือนแล้วไม่ฟัง ยังมีพฤติกรรมล้อเพื่อน แกล้งเพื่อนอีก อาจใช้การลงโทษด้วยวิธีที่ไม่รุนแรง เช่น ตัดสิทธิ์ งดกิจกรรมที่ชอบ เป็นต้น
3. ถ้าตักเตือนแล้วลูกมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น ไม่ล้อเพื่อน พ่อแม่ต้องให้คำชม
4. เป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่ใช้ความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้เด็กไม่ซึมซับพฤติกรรมรุนแรงไปใช้กับคนอื่น
การใส่ใจในเรื่องที่ลูกเล่า รวมทั้งคอยสังเกตพฤติกรรมของลูก ชวนลูกคุยเป็นประจำ จะทำให้ลูกรู้สึกไว้วางใจและมั่นใจว่าพ่อแม่อยู่ข้างลูกเสมอ เมื่อลูกมีปัญหาอะไร เขาจะบอกเรา เล่าให้เราฟัง ซึ่งจะทำให้พ่อแม่สามารถช่วยลูกแก้ปัญหาตั้งแต่ตอนที่มันยังเป็นเรื่องเล็กน้อย ก่อนจะสะสม จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในใจลูก ที่อาจสายเกินจะแก้ไข
ใช้หนังสือนิทานเป็นตัวช่วยในการสอนลูก
อย่าล้อปิงปิงอายนะ” ฝึกลูกแก้ปัญหา เรียนรู้ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
การรับมือลูกถูกล้อสำหรับเด็กเล็กวัย 2-5 ปี อาจเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น เด็กฉี่ราด อึราดที่โรงเรียน เนื่องจากเด็กเล็กยังไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ดีนัก หากถูกเพื่อนล้อจะทำให้ลูกรู้สึกอายได้ นิทาน “อย่าล้อ ปิงปิงอายนะ” มีสถานการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้อารมณ์ ความรู้สึกของผู้อื่นเมื่อถูกล้อ รวมไปถึงแนวทางการรับมือที่เหมาะสมเมื่อลูกถูกเพื่อนล้อ
หนังสือเล่มนี้ยังช่วยพัฒนา EF ให้ลูก โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกคุยเพื่อเชื่อมโยงความรู้ เช่น นอกจากเรื่องอึราด ฉี่ราดแล้ว ยังมีเรื่องไหนอีกบ้างที่ลูกเคยเห็น เช่น ถูกล้อว่าอ้วน ผอม เตี้ย ดำ เพื่อสอนไม่ให้ลูกล้อเลียนคนอื่นแบบนั้นด้วย เป็นการฝึกการจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) การยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility) รู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสอนให้ลูกจำลองสถานการณ์ แล้วหาคำตอบร่วมกัน เช่น ถ้ามีเพื่อนล้อในสิ่งที่ลูกไม่ชอบ หนูจะทำอย่างไร เป็นการฝึกการยั้งคิดไตร่ตรอง (Inhibitory Control) และประเมินตนเอง (Self-Moitoring) เพื่อสามารถรับมือ และเรียนรู้ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างราบรื่นและมีความสุข