Pass Education Co.,Ltd
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
พาส เอ็ดดูเคชั่น สวัสดีจ้า
เริ่มแชท

ลูกจะมีปัญหา ถ้าไม่หยุดเปรียบเทียบกับคนอื่น

ลูกจะมีปัญหา ถ้าไม่หยุดเปรียบเทียบกับคนอื่น

เมื่อพ่อแม่มีลูกสักคนย่อมคาดหวังอยากจะเลี้ยงลูกให้ดีที่สุด อยากให้ลูกเป็นเด็กดี น่ารัก พูดเพราะ มีน้ำใจ ไปไหนใคร ก็รัก เก่ง ขยัน อดทน มีความสามารถรอบตัว เพื่อที่โตขึ้นจะมีอนาคตที่ดี แต่เมื่อลูกทำไม่ได้หรือไม่เป็นไปตามที่ต้องการ พ่อแม่ก็มักอดไม่ได้ที่จะ “เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น” ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง ญาติ เพื่อนบ้าน หรือใครก็ตามที่เก่งกว่า ดีกว่า พร้อมกว่าในด้านต่าง ๆ ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่า โดยเรื่องที่มักถูกนำไปเปรียบเทียบ เช่น ความสูง สีผิว ฟันหลอ สอบได้คะแนนน้อย วิ่งช้ากว่าเพื่อน ฯลฯ

ตัวอย่างใกล้ตัว เช่น ลูกไม่ค่อยกินข้าว ลูกตัวเล็ก หนึ่งในเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่มักกังวลใจ กลัวว่าลูกจะไม่แข็งแรง โตไม่ทันเพื่อน ซึ่งค่านิยมบ้านเรามักมองว่าเด็กจ้ำม่ำ เจ้าเนื้อ จะน่ารักน่าเอ็นดูกว่าเด็กที่ผอม ตัวเล็ก ผอมแห้ง อีกทั้งคนตัวโตกว่าจะได้เปรียบในเรื่องพละกำลัง ได้เป็นนักกีฬา ในขณะที่คนแรงน้อย มักได้เป็นกองเชียร์ คนตัวสูงได้อยู่หัวแถว คนตัวเล็กได้อยู่หางแถวและถูกล้อว่าตัวเตี้ย

พ่อแม่เองต่างก็อยากให้ลูกของตัวเองเป็นที่ยอมรับ จึงพยายามผลักดัน และเผลอ เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น จนกลายเป็นกดดันลูก และทำให้ลูกรู้สึกแย่โดยไม่รู้ตัว

ทำไมพ่อแม่ถึงชอบเปรียบเทียบ
พ่อแม่ที่ชอบเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น มักเคยถูกเปรียบเทียบมาก่อนตอนเป็นเด็ก ทั้งที่รู้ว่า การถูกเปรียบเทียบเช่นนั้น ทำให้ตัวเองรู้สึกไม่ดีมาก่อน แต่ก็อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น เมื่อเห็นว่าลูกคนอื่นทำได้ ทำไมลูกเราทำไม่ได้

·  การเปรียบเทียบมักมาพร้อมความปรารถนาดี อยากให้ลูกเห็นต้นแบบดีๆ

·  พ่อแม่มักความคาดหวังลึกๆ อยากให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี

·  บ่อยครั้งพ่อแม่จึงรู้สึกหงุดหงิด โมโห โกรธ ที่ลูกไม่ได้ดั่งใจ

หากคุณพ่อคุณแม่ลองนึกย้อนถึงความรู้สึกของตัวเองตอนถูกเปรียบเทียบ ตอนนั้นเราก็คงไม่ชอบใจ ลูกของเราก็เช่นกัน เขาก็รู้สึกแย่กับคำพูดเปรียบเทียบของเราเหมือนกัน จากเรื่องเล็ก ๆ หากสะสมรวมกันหลาย ๆ เรื่อง นาน ๆ เข้าสะสมเป็นปมภายในใจ อาจกลายเป็นคนขี้อิจฉา ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ขาดความมั่นใจ และเป็นเด็กมีปัญหาในที่สุด ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือการสื่อสารเชิงบวกกับลูก การกระตุ้นเชิงบวกให้ลูกรู้จักพัฒนาตนเอง

5 วิธีเลี้ยงลูกให้ได้ดี หยุดเปรียบเทียบลูกกับคนอื่น

คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า แต่ละคนไม่เหมือนกัน ทุกคนมีเอกลักษณ์ มีลักษณะเฉพาะของตนเอง มีข้อดีและข้อบกพร่องต่างกันไป ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเหมือนใคร หรือดีกว่าใคร

1.  อยากให้ลูกทำอะไรบอกให้ชัดไม่ต้องเปรียบเทียบ แทนที่จะพูดว่า “แม่บอกว่าให้กินข้าวเยอะ ๆ กินนมเยอะ ๆ กินน้อยแบบนี้เมื่อไหร่จะตัวสูงใหญ่ สู้ลูกบ้านโน้นไม่ได้เสียที” ลองเปลี่ยนเป็น “แม่อยากให้ลูกกินข้าวกินนมเยอะ ๆ จะได้ตัวสูงใหญ่แข็งแรง” แบบนี้จะดีกว่า

2.  มองหาข้อดีในข้อด้อยที่ลูกมี บางสิ่งที่เรามองว่ามันเป็นข้อด้อย แต่มันก็มีข้อดีซ่อนอยู่ในตัวของมัน เช่น ลูกตัวเล็ก แรงน้อย อาจไม่เด่นเรื่องกีฬาที่ต้องใช้กำลัง แต่เป็นที่ต้องการในกีฬาที่ต้องใช้ความคล่องตัว เช่น ปิงปอง หรือขี่ม้า นอกจากนี้ การตัวเล็กก็มีข้อดี เช่น เมื่อมีของเล็ก ๆ ตกลงไปในซอกเล็ก ๆ ในสถานการณ์เช่นนี้ ต้องการคนตัวเล็กจึงจะหยิบของนั้นได้

3.  อย่าโฟกัสข้อด้อยหันมาชื่นชมสิ่งที่ลูกทำได้ดีแทน เด็กทุกคนมีข้อดี มีจุดเด่นที่ต่างกันไป แทนที่จะไปโฟกัสที่จุดดำจุดเดียว หากลองเปลี่ยนมุมมองจะพบจุดสีอื่น ๆ อีกมากมายที่รายล้อม แล้วมุ่งไปที่การชื่นชมข้อดีอื่น ๆ ของลูกแทน เพราะถึงแม้ลูกจะมีข้อด้อยในเรื่องนี้ แต่ลูกก็มีความสามารถอย่างอื่นที่คนอื่นอาจทำไม่ได้

4.  ชื่นชมในสิ่งที่ลูกเป็น ถึงแม้จะเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน พ่อแม่ก็สามารถหยิบสิ่งเหล่านั้นมาพูดได้ เช่น ดีมากเลยลูก ที่ลูกเป็นเพื่อนเล่นกับน้อง หนูเป็นพี่ที่น่ารักมาก

5.  ให้กำลังใจในสิ่งที่ลูกพยายามทำ คำชมจากพ่อแม่คือสิ่งที่ลูกอยากได้ยินมากที่สุด ไม่ว่าเขากำลังพยายามทำอะไรอยู่ บอกลูกให้รู้ว่าพ่อแม่เฝ้าดูและเห็นในความพยายามของเขา เช่น แม่ภูมิใจมากเลยที่ลูกพยายามทำการบ้าน ถึงมันจะยาก แต่ลูกก็ตั้งใจสุด ๆ” เพียงเท่านี้ลูกก็มีกำลังใจดีขึ้น ภูมิใจและเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น เชื่อเถอะว่าเขาจะเต็มใจให้ความร่วมมือ เชื่อฟังคุณพ่อคุณแม่ มีความพยายามทำสิ่งใหม่ ๆ และมีความรับผิดชอบในเรื่องอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามมา

ใช้นิทานเป็นตัวช่วยสอนลูก

ปิงปิงชุดStopBullying สอนลูกให้ใจแกร่ง สอนพ่อแม่ให้เลิกเปรียบเทียบ เรื่องราวของปิงปิงที่ถูกป้าเปรียบเทียบเรื่องความสูงกับเด็กคนอื่น ๆ ถูกแซวว่าตัวเล็ก แถมยังถูกล้อเลียนชื่อว่า ลิงลิง ทำให้ปิงปิงน้อยใจ และรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว

คุณแม่สามารถชวนลูก “คิดต่อ” แล้วหาคำตอบร่วมกัน ว่าถ้าหนูถูกเปรียบเทียบแบบนั้น หนูจะทำอย่างไร เป็นการฝึกทักษะ EF ด้านการยั้งคิด ไตร่ตรอง (Inhibitory Control) และ รู้จักประเมินตนเอง (Self-Monitoring) รวมถึงชวนลูกมองกลับมาที่ตนเอง กระตุ้นให้ลูกคิดจินตนาการ “สมมุติว่าลูกตัวเล็กกว่าเพื่อนทุกคนเหมือนปิงปิง ลูกคิดว่าความตัวเล็กมีประโยชน์อะไรอีกบ้าง" เป็นการช่วยฝึกการยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility) สอนให้ลูกคิดบวกกับตัวเอง สร้างภูมิคุ้มกันทางใจ ให้พร้อมเผชิญอุปสรรคใดๆ ก็ตามอย่างแข็งแกร่งต่อไปในอนาคต

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้