ข่าวคราวในทุกวันนี้ มีข่าวเด็กโดนกลั่นแกล้ง นักเรียนถูกบูลลี่ ไม่เว้นแต่ละวัน การกลั่นแกล้งในโรงเรียน หรือแม้แต่การแกล้งกันของคนทั่วไป เริ่มกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่หลายคนชินชา
จากสถิติพบว่า ร้อยละ 40-80 ของเด็กวัยเรียนเคยถูกรังแกอย่างน้อย 1 ครั้ง เรื่องการแกล้งกันหรือบูลลี่จึงอาจเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน แต่สำหรับตัวเด็กแล้ว การถูกเพื่อนกลั่นแกล้งหรือบูลลี่ ไม่ว่าจะด้วยคำพูดหรือการกระทำ ก็สร้างบาดแผลร้าวลึกลงในจิตใจอย่างแน่นอน คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสอนวิธีรับมือเมื่อลูกโดนแกล้ง ให้เด็กได้เตรียมตัวหรือรู้จักวิธีรับมือการถูกบูลลี่อย่างเหมาะสม พร้อมกันนั้นคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องเตรียมตัว เตรียมหัวใจ รับมือในวันที่ลูกโดนแกล้ง เพื่อส่งมอบความเข้มแข็งและแข็งแกร่งให้ลูกกล้าเผชิญหน้า
ปัญหาลูกถูกแกล้งหรือบูลลี่
การกลั่นแกล้งหรือรังแกกันในโรงเรียนเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกได้ทั้งคำพูด การกระทำ ตัวอย่างเช่น
- ทำร้ายทางกาย เช่น ตี ผลัก ต่อย ตบ หยิก ดึงผม ใช้อุปกรณ์แทนอาวุธในการข่มขู่
- ทำร้ายจิตใจ เช่น ล้อเลียนหรือทำให้รู้สึกอับอาย กีดกันออกจากกลุ่ม เพิกเฉย ทำเหมือนไม่มีตัวตน
- ทำร้ายทางคำพูด เช่น ใช้คำหยาบคายหรือดูถูก เหยียดหยาม ล้อเลียนลักษณะภายนอกของเหยื่อในทางลบ
- ทำร้ายทางโซเชียล เช่น ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ กล่าวหา ด่าว่า หรือใส่ความ ให้ได้รับความอับอาย
ผลกระทบเมื่อเด็กโดนแกล้งเมื่อลูกโดนแกล้ง โดนบูลลี่ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหน ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลต่อจิตใจ โดยเด็กที่ถูกรังแกมักจะมีอารมณ์ซึมเศร้าหรือวิตกกังวล รู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีความสุข ส่งผลต่อการกินการนอนผิดปกติ อาจรวมถึงอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง ปวดศีรษะ และแน่นอนว่าทำให้เด็กมีผลการเรียนแย่ลง
เรื่องราวเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในวัยเยาว์ยังส่งผลยาวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ นอกจากจะสร้างบาดแผลในใจให้กลายเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง ขาดความภาคภูมิใจ ส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจแล้ว ยังเพิ่มแนวโน้มการฆ่าตัวตายได้อีกด้วย ผู้ถูกกลั่นแกล้งอาจเปลี่ยนจากเหยื่อกลายเป็นผู้รังแกคนอื่นเสียเองในอนาคต
สอนวิธีรับมือเมื่อลูกโดนแกล้งเด็กที่ถูกแกล้งหรือโดนบูลลี่ย่อมกลัว กังวล คิดมาก และไม่รู้วิธีรับมือเมื่อโดนบูลลี่ เด็กบางคนไม่กล้าแม้แต่จะเล่าให้พ่อแม่ฟัง อาจโดนข่มขู่ หรือกลัวจะโดนพ่อแม่ดุด่าว่ากล่าวซ้ำเติมไปอีก การเลี้ยงลูกตั้งแต่เล็กให้ไว้วางใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ต้องมอบความรัก การดูแลเอาใจใส่ ให้ลูกกล้าที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง พร้อมกันนั้นต้องคอยสังเกตลูกโดยเฉพาะเมื่อกลับจากโรงเรียน เช่น เด็กมีท่าทีเซื่องซึม ก็ควรเข้าไปพูดคุยถึงสาเหตุ สอบถามลูกว่าถูกแกล้งอย่างไร คอยสังเกตกลุ่มที่แกล้งลูก เพื่อหาวิธีแก้ปัญหาลูกถูกแกล้งให้ดีที่สุด โดยวิธีรับมือและป้องกันลูกโดนแกล้ง ทำได้ดังนี้
1. ชวนลูกพูดคุยถึงการข่มเหงรังแก เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ อาจจะเป็นโอกาสให้เด็กได้เล่าเรื่องการถูกกลั่นแกล้ง เมื่อลูกเล่าว่าโดนแกล้งหรือบูลลี่ ให้คุณพ่อคุณแม่ชื่นชมที่กล้าพูดถึงเรื่องนี้ พร้อมกับให้กำลังใจ และปรึกษากับคุณครูที่โรงเรียนเพื่อหาวิธีในการช่วยเหลือเด็ก
2. ฝึกการแสดงออกทางอารมณ์ ไม่แสดงปฏิกิริยาโต้ตอบต่อการกระทำนั้น แล้วให้บอกผู้รังแกว่าให้หยุดพฤติกรรมนั้น จากนั้นเดินห่างออกมา หากเด็กสามารถควบคุมอารมณ์ ไม่แสดงอาการ จะลดแรงจูงใจในการถูกรังแกได้
3. กำจัดตัวล่อของการถูกรังแก หากเด็กโดนรีดไถเงิน ก็เปลี่ยนเป็นการนำข้าวกล่องไปทานแทนการให้ค่าขนม หรือไม่ให้เด็กพกของมีค่าไปโรงเรียน
4. พยายามไม่อยู่ตามลำพัง ให้ทำกิจกรรมกับเพื่อนอย่างน้อย 2 คน เพื่อลดโอกาสการโดนรังแก
5. ไม่ปล่อยให้ลูกสู้กับเรื่องการโดนกลั่นแกล้งแต่เพียงลำพัง คุณพ่อคุณแม่ควรพูดคุยกับผู้ปกครองเด็กที่มารังแก ให้คุณครูหรือนักจิตวิทยาโรงเรียนเข้าร่วมพูดคุยด้วย
นอกจากตัวเด็กเองที่จะต้องเตรียมตัว เตรียมใจ เพื่อรับมือกับการถูกกลั่นแกล้งแล้ว คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องรับมือเรื่องนี้ให้ด้วยด้วยการตั้งสติ ไม่ใช้อารมณ์แก้ปัญหา แล้วรับฟังลูกอย่างตั้งใจ ให้เด็กได้ระบายเรื่องราวทั้งหมดออกมา จากนั้นมองหาสาเหตุว่าลูกถูกแกล้งหรือโดนบูลลี่เพราะอะไร แล้วจึงคิดหาทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกัน ขณะเดียวกันก็ต้องสอนให้ลูกรู้จักปกป้องตัวเอง และเมื่อใดก็ตามที่ลูกเริ่มมีอาการซึมเศร้า อย่ารอให้สายเกินไป ควรพาลูกไปปรึกษาจิตแพทย์
นิทาน
“อย่าแกล้ง ปิงปิงไม่ชอบ” สอนวิธีรับมือเมื่อถูกกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะเด็กเล็กวัย 4-6 ปี ที่ยังปกป้องตัวเองไม่ได้ หากถูกแกล้งที่โรงเรียนควรสอนให้ลูกไปบอกคุณครูทุกครั้ง และคุณพ่อคุณแม่ก็ควร “ปลอบ ให้กำลังใจ และปกป้องลูก”
มีสถานการณ์ให้เด็กได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องราวของการถูกแกล้งหรือโดนบูลลี่ คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง เช่น สบตาคนแกล้ง และพูดเสียงดังฟังชัดว่า “หยุดนะ! ฉันไม่ชอบให้เธอมาแกล้งแบบนี้” พร้อมกับชวนลูกคุยหาทางแก้ปัญหา ให้เด็กได้คิด ทบทวน แล้วให้ลูกเลือกตัดสินใจเอง
นิทานเล่มนี้ยังช่วยเสริมสร้างทักษะทางสมองที่สำคัญอย่าง EF โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกคุยเชื่อมโยงความรู้ ให้ลูกคิดต่อแล้วหาคำตอบร่วมกัน เช่น ชวนให้ลูกคิดว่าเราจะป้องกันตัวเองได้อย่างไรบ้าง และยังเป็นการ
ฝึกการจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) การยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility) และสอนให้รู้จักตัดสินใจด้วยตนเองอีกด้วย เมื่อได้อ่านนิทานร่วมกัน ก็ชวนให้ลูกมองกลับมาที่ตัวเองสมมุติตัวเองเป็นตัวละครเพื่อฝึกการแก้ปัญหาต่อไป
#ลูกถูกแกล้ง #บูลลี่ #นิทานปิงปิง
#วิธีรับมือเมื่อลูกถูกบูลลี่