Pass Education Co.,Ltd
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
พาส เอ็ดดูเคชั่น สวัสดีจ้า
เริ่มแชท

สอนลูกให้กล้าบอกความจริงเมื่อถูกทำร้าย

สอนลูกให้กล้าบอกความจริงเมื่อถูกทำร้าย

สอนลูกให้กล้าบอกความจริงเมื่อถูกทำร้าย

 

โรงเรียน สถานที่ที่ควรจะปลอดภัย เป็นที่ไว้วางใจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง แต่โรงเรียนในทุกวันนี้กลับกลายเป็นสถานที่ที่ซึ่งสร้างความหวาดระแวง กลัวว่าลูกจะถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง แต่ซ้ำร้ายไปกว่านั้น การทำร้ายร่างกายกลับเกิดจากครูผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา โดยข่าวคราวครูทำร้ายเด็ก มีเกิดขึ้นให้เห็นเป็นประจำ ทั้งที่บทบาทของคุณครูนั้นควรจะเป็นผู้ปกป้องและคุ้มครองเด็กนักเรียน

 

"ลงโทษ" หรือ "ทำร้ายเด็ก"

จากการสำรวจโดยองค์การยูนิเซฟ เรื่อง ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติของครู ในเรื่องการลงโทษด้วยความรุนแรงและการใช้วินัยเชิงบวก ในปี 2556 สอบถามครูในโรงเรียนรัฐ 480 คน มีครูร้อยละ 42 เห็นว่าการลงโทษที่ไม่รุนแรงเกินไป จะไม่ส่งผลต่อทางกายและทางจิตใจของเด็กในระยะยาว และครูร้อยละ 62 บอกว่าการลงโทษด้วยความรุนแรงไม่ใช่การละเมิดสิทธิเด็ก นอกจากนี้ ครูร้อยละ 95 ยังทราบกฎกระทรวงศึกษาธิการปี 2548 เรื่อง "หักไม้เรียว" เพื่อห้ามการลงโทษด้วยความรุนแรง เช่น การตี แต่หลายโรงเรียนก็ยังใช้วิธีนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า ครูไม่รู้วิธีอื่นที่จะใช้ในการดูแลพฤติกรรมนักเรียนได้ และมองว่าการลงโทษที่มาจากความหวังดีเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ จำเป็นต่อการควบคุมเด็กในชั้นเรียน เพราะถือเป็นวิธีการจัดการชั้นเรียนที่ได้ผลทันที

การลงโทษเด็กโดยใช้อารมณ์เพื่อหวังควบคุมการกระทำหรือพฤติกรรม ทั้งที่ตั้งใจหรือด้วยความหวังดี ก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่นั่นยังไม่เท่าบาดแผลในจิตใจที่เด็กจะต้องเผชิญความกลัวตั้งแต่เล็กไปจนโต

 

รู้ได้อย่างไรว่า "ลูกถูกทำร้ายร่างกาย"

เมื่อเด็กถูกครูทำร้ายจะรู้สึกหวาดกลัว ไม่กล้าเล่า ไม่กล้าบอกให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ จึงจำเป็นต้องอาศัยความช่างสังเกตลูกเป็นประจำ เพื่อจับสังเกตให้ได้ว่ามีสิ่งไหนผิดปกติ เช่น

 

·        สำรวจร่างกายลูกเป็นประจำ : เด็กที่ถูกผู้ใหญ่ทำร้ายร่างกายหรือโดนครูทำร้ายร่างกาย มักจะอยู่ในบริเวณใต้ร่มผ้า เพราะผู้ใหญ่จะรู้ดีว่า ตีตรงไหน ทำร้ายตรงไหน จะมองไม่เห็น ไม่เหมือนกับเด็กที่ทำร้ายกันหรือกลั่นแกล้งกัน บาดแผลหรือร่องรอยฟกช้ำจะเห็นได้ชัดกว่า หากลูกยังเล็กที่คุณพ่อคุณแม่ยังอาบน้ำให้ก็ควรหมั่นสังเกตร่างกายลูกเป็นประจำ

 

·        เด็กฝันร้าย : การถูกทำร้ายร่างกายจะส่งผลให้เกิดบาดแผลทางใจ เมื่อเด็กต้องการปกปิด อาจจะด้วยโดนข่มขู่มา จึงไม่กล้าเล่าให้ฟัง ก็จะยิ่งพยายามซ่อนความคิดนั้น แต่ในจิตใต้สำนึกกำลังผจญกับบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ฝันร้ายหรือถึงขั้นละเมอออกมา หากเด็กฝันร้ายติดกันหลายคืน เมื่อปลุกให้ตื่นลูกยิ่งร้องไห้หนัก ก็ให้คอยจับตาดูอาการของลูกอย่างใกล้ชิด

 

 

·        มีพฤติกรรมที่ผิดแปลก : เด็กอาจจะพูดจาติดอ่าง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ชอบกัดเล็บ ดูดนิ้ว หรือปัสสาวะราด

·        ร่างกายมีอาการเจ็บป่วยจากความเครียดหรือความวิตกกังวล : เด็กอาจจะปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน เมื่อต้องไปโรงเรียน หรือแม้แต่การแสดงออกทางอารมณ์ เช่น การร้องกรี๊ด หรือไม่ยอมเดินเข้าโรงเรียน

 

·        มีอารมณ์ผิดปกติ : จากที่เคยร่าเริง ลูกกลับไม่สดใส เซื่องซึม ชอบเหม่อลอย หรือมีพฤติกรรมที่ฉุนเฉียวหงุดหงิดง่ายไปเลย อาจแสดงออกถึงพฤติกรรมที่รุนแรงได้ด้วย

หากลูกเริ่มไม่อยากไปโรงเรียน จากเดิมที่เคยชอบไปโรงเรียน หรือพูดว่า กลัวครูคนไหน ไม่อยากเข้าเรียนวิชาอะไร สิ่งเหล่านี้ก็เป็นสัญญาณสำคัญถึงความผิดปกติที่กำลังเกิดขึ้นกับลูก

 

สอนลูกให้กล้าเล่าเมื่อถึงคราวถูกทำร้าย

ลูกอาจถูกทำร้ายได้ในทุกสถานที่ ลูกอาจถูกทำร้ายได้จากฝีมือของทุกคน ทั้งสองข้อนี้เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรระวัง ไม่ไว้ใจหรือเชื่อใจใครมากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ศึกษาอย่างโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือแม้แต่บ้านญาติ ก็ต้องคอยเฝ้าสังเกตดูพฤติกรรมลูกอยู่เสมอ เมื่อเด็กถูกทุบตี หยิก บิดหู ขู่ ดุด่า หรือการลงโทษเกินกว่าเหตุ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนคอยปกป้อง ดูแล เยียวยา โดยเฉพาะจิตใจของเด็กที่ถูกทำร้าย ซึ่งบาดแผลอาจรุนแรงกว่าบนร่างกาย และเป็นบาดแผลที่ติดตัวไปตลอดชีวิต

 

เมื่อคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นสัญญาณอันตรายว่า ลูกถูกทำร้ายร่างกาย ให้สอบถาม ชวนลูกพูดคุยถึงเรื่องราวของสถานที่นั้น ตัวอย่างคำถามเช่น

1.       ลูกไปโรงเรียนมา วันนี้เป็นยังไงบ้าง สนุกไหมคะ?

2.       คุณครูชวนเล่นอะไรบ้าง?

3.       หนูชอบวิชาไหนมากที่สุด แล้วหนูไม่ชอบวิชาอะไร?

4.       ชอบเรียนกับคุณครูคนไหน?

5.       เพื่อนชวนเล่นอะไรบ้างที่โรงเรียน

 

หากลูกยังไม่พร้อมเล่า อาจจะรู้สึกหวาดกลัว หรือโดนข่มขู่มา ก็อย่าเพิ่งรีบซักไซ้หรือบีบคั้นลูกเพื่อเอาคำตอบให้ได้ ควรปล่อยให้เด็กอยากเล่าเมื่อสบายใจ เพราะลูกอาจยังไม่พร้อมเล่าในตอนนั้น

 

สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนคอยเยียวยาจิตใจให้กับลูก เมื่อรู้แล้วว่าลูกโดนใครทำร้าย ทำร้ายที่ไหน ก็รีบนำลูกออกจากสถานที่แห่งนั้น ออกห่างจากบุคคลที่ทำร้ายลูก หรือออกจากเหตุการณ์นั้นให้เร็วที่สุด จากนั้นควรทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัย ด้วยการปลอบโยน กอดลูกไว้ พร้อมกับรับฟังเรื่องราวเมื่อลูกพร้อมจะเล่า ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกกล้าบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น โดยพูดให้ลูกรู้สึกไว้วางใจและมั่นใจได้ว่าจะปลอดภัย เช่น "แม่อยู่ตรงนี้แล้ว ไม่มีใครสามารถทำร้ายลูกของแม่ได้" หรือปรึกษาจิตแพทย์ หาวิธีทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยจนกล้าเล่าเรื่องราวออกมา และควรสอนลูกอยู่เสมอว่า ถ้ามีใครทำร้ายร่างกาย ข่มขู่ ดุด่าว่ากล่าว ให้รีบมาบอก พ่อกับแม่ช่วยหนูได้เสมอ

 

วิธีแก้ปัญหาเมื่อลูกถูกทำร้าย

1.       หากลูกถูกครูทำร้ายร่างกาย ควรแจ้งและปรึกษากับทางโรงเรียน ครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง

2.       เด็กเล็กควรย้ายโรงเรียน ไม่ให้เด็กต้องอยู่ในสถานที่เดิม เพราะจะไปเน้นย้ำความรู้สึกหวาดกลัวเหตุการณ์นั้นจนลูกฝังใจได้

3.       คอยประคับประคองความรู้สึกของลูก มอบความรักใกล้ชิด ใส่ใจ และดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยและมั่นใจว่าพ่อแม่ปกป้องลูกอยู่เสมอ

4.       บาดแผลของลูกต้องใช้เวลาในการเยียวยา โดยที่คุณพ่อคุณแม่คอยอยู่เคียงข้าง ให้กำลังใจและปลอบโยนลูก

5.       พาลูกไปพบจิตแพทย์หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จะช่วยให้เด็กกลับมามีความมั่นใจ พัฒนาทักษะได้ตามวัย และช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับมาแข็งแรง

อยากให้ลูกกล้าบอกความจริง กล้าเล่าว่าโดนทำร้ายร่างกาย สิ่งแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องสร้างความไว้วางใจกับลูกเสียก่อน ให้ลูกมั่นใจว่า ถ้าลูกเล่าแล้วจะปลอดภัย และพ่อแม่คือคนที่จะช่วยเหลือได้เสมอ เมื่อลูกมีความไว้เนื้อเชื่อใจก็จะกล้าเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ

 

ใช้นิทานช่วยสอนลูก สนุก เข้าใจง่าย  

นิทานปิงปิง ชุด Stop bullying “อย่าบิดหู ปิงปิงกลัวแล้ว” แนะวิธีรับมือ เมื่อลูกโดนทำร้ายร่างกาย เล่าเหตุการณ์การโดนทำร้ายร่างกายผ่านตัวละครปิงปิง เมื่อต้องเผชิญหน้ากับคุณครูคนใหม่ และถูกบิดหูจนเก็บมาฝันร้าย โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถนั่งอ่านนิทานปิงปิงไปพร้อมกับลูก เพื่อสอนให้ลูกกล้าเล่าเมื่อถูกทำร้าย พร้อมสร้างความมั่นใจให้ลูกว่า พ่อแม่พร้อมช่วยเหลือลูกทันทีหากเกิดปัญหา

 

หนังสือนิทาน “อย่าบิดหู ปิงปิงกลัวแล้ว” ยังช่วยพัฒนา EF เพื่อเสริมสร้างทักษะสู่อนาคต ด้วยการชวนลูกคุยเชื่อมโยงความรู้ ให้ลูกลองคิดว่า วิธีการลงโทษแบบไหนที่ลูกกลัว เช่น การถูกฟาดด้วยไม้กวาด หรือพูดจาตำหนิว่าโง่ พร้อมกับสอนว่า เมื่อพบเห็นหรือเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ควรรีบมาบอกพ่อแม่ เป็นการฝึกการจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) และยังสามารถชวนลูกกลับมาที่ตนเอง สมมติว่าเป็นปิงปิง เห็นเพื่อนโดนลงโทษ หนูจะทำอย่างไร ควรบอกคนอื่นไหม หรือเก็บเรื่องนี้เอาไว้ เพื่อเป็นการฝึกการยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility) ให้ลูกรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

 

#ครูทำร้ายเด็ก #ลูกถูกทำร้าย, #นิทานปิงปิง, #อย่าบิดหูปิงปิงกลัวแล้ว

***ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com

 

 

 

 

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้