10 วิธีฝึกเชาวน์ สร้าง “มิติสัมพันธ์”
การเรียนรู้เรื่องรูปร่างรูปทรง เรขาคณิต และ มิติสัมพันธ์ ของสิ่งต่างๆ เป็นหนึ่งในการเสริมเชาวน์ปัญญา พัฒนาสมองซีกขวา กระตุ้นลูกให้เกิดจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ในฐานะครูคนแรกของลูก สามารถเริ่มสอนลูกได้ง่ายๆ ที่บ้าน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ลูกเติบโตขี้นเป็นเด็กที่ทั้งฉลาดคิด ฉลาดเรียนรู้ และฉลาดใช้ชีวิตไปพร้อมๆ กัน
มิติสัมพันธ์ คืออะไร
มิติสัมพันธ์ เป็นความสามารถในการ “คิดเป็นภาพในใจ” มองเห็นความสัมพันธ์ของมิติต่างๆ เกิดจินตนาการ และมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงตำแหน่ง ทิศทาง รูปร่าง ลักษณะของสิ่งต่างๆ ที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ และของความสามารถด้านอื่นๆ อีกมากมาย ทักษะด้านมิติสัมพันธ์จึงเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมและพัฒนาตั้งแต่วัยเด็ก
ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ของเด็กอนุบาลสามารถฝึกฝนได้ โดยวิธีการต่างๆ เช่น
• พัฒนาประสาทสัมพันธ์ในการมองกับการเคลื่อนไหว (eye-motor Coordination)
• การรับรู้ภาพและพื้นหลังภาพ (Figure-ground Perception)
• การรับรู้ความคงรูปของวัตถุ (Perceptual Constancy)
• การรับรู้ความสัมพันธ์ของตำแหน่งกับพื้นที่ (Position in Space Perception)
• การรับรู้ความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุกับวัตถุ (Perception of Spatial Relationship)
• การจำแนกความเหมือนและความแตกต่าง (Visual Discrimination)
•การจำภาพ (Visual Memory)
คุณพ่อคุณแม่สามารถฝึกให้ลูกได้ตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยที่เริ่มเข้าใจในเรื่องมิติสัมพันธ์ได้ดีขึ้นเรื่อยๆ โดยควรเน้นความสนุกสนานเพลิดเพลินเป็นหลัก ผ่านกิจกรรมสนุกที่ลูกทำได้ง่าย เช่น
1. กิจกรรมในชีวิตประจำวัน การเตรียมพร้อมก่อนเข้าเรียนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องฝึกลูกอยู่แล้ว อย่างเช่น การใส่เสื้อผ้า การผูกเชือกรองเท้า การเดินข้ามถนนไม่ให้ถูกรถชน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งเสริมทักษะด้านมิติสัมพันธ์ให้ลูก รู้จักตำแหน่ง ด้านหน้า ด้านหลัง ด้านบน ด้านล่าง ข้างใน ข้างนอก
2. ช่วยงานบ้าน เช่น ช่วยคุณแม่ทำอาหาร ทำขนมอบ เด็กจะได้เรียนรู้และสังเกตการเปลี่ยนของขนาด รูปร่าง สีสัน รสชาติ ก่อนและหลังอบขนม
3. เล่นต่อบล็อก ไม่ว่าจะเป็นตัวต่อเลโก้ ตัวต่อไม้บล็อก หรือแม้แต่กล่องขนม แกนกระดาษทิชชู่ ก็สามารถนำมาต่อเป็นชั้น และสร้างเป็นเรื่องราวได้ ซึ่งมีการศึกษาพบว่า กิจกรรมต่อบล็อกที่มีการสร้างเป็นเรื่องราว ช่วยฝึกไหวพริบ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า และพัฒนาทักษะด้านมิติสัมพันธ์ได้ดีกว่า
4. ปั้นแป้ง ปั้นดินกระดาษ เด็กๆ จะได้ทั้งความคิดสร้างสรรค์ในการปั้นรูปทรงอิสระตามใจชอบ ได้ถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นรูปทรง 3 มิติ กว้าง ยาว ลึก มองเห็นได้หลายมุม ฝึกการกะน้ำหนักมือ กะปริมาณดิน กะระยะห่าง และที่สำคัญยังเป็นพื้นฐานการมองเห็นความเชื่อมโยงของส่วนประกอบต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ลูกเข้าใจเรื่องมิติสัมพันธ์ได้ดียิ่งขึ้น
5. เล่นต่อจิ๊กซอว์ เป็นเกมที่เด็กได้สนุกกับการหาภาพที่สามารถวางลงในที่ว่างได้พอดี ช่วยฝึกการสังเกตในเรื่องของขนาด ลักษณะรูปทรงของจิ๊กซอว์แต่ละชิ้น ช่วยในการเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ การกะระยะจัดวาง เข้าใจเรื่องรูปร่างรูปทรง ทั้งยังช่วยในเรื่องของสมาธิ ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับกิจกรรมได้เป็นเวลานาน
6. เล่นต่อแทนแกรม (TANGRAM) แทนแกรมเป็นตัวต่อปริศนาโบราณของจีน มีทั้งหมด 7 ชิ้น แต่สามารถนำมาต่อเป็นรูปร่างได้เป็น 100 แบบ โดยการเลื่อน หมุน พลิกชิ้นส่วนให้เป็นภาพคน สัตว์ หรือสิ่งของก็ได้ การเล่นแทนแกรมช่วยฝึกสมาธิ ส่งเสริมจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาการคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักสังเกต พลิกแพลงตามสถานการณ์ และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
มีการศึกษาพบว่า เด็กที่เล่นตัวต่อปริศนาสามารถคิดเป็นภาพมิติสัมพันธ์ในใจได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้เล่น และยังพบอีกด้วยว่า ยิ่งเล่นบ่อยเท่าไหร่ก็ยิ่งพัฒนาทักษะด้านมิติสัมพันธ์ได้มากขึ้นเท่านั้น
7. หาของเล่นที่ซ่อนตามแผนที่ แผนที่เป็นเครื่องมือที่ให้ข้อมูลด้านมิติสัมพันธ์ได้ดี การฝึกดูแผนที่ช่วยให้เด็กเข้าใจเรื่องพื้นที่ สามารถคิดเป็นระบบ สามารถบอกทางได้ เข้าใจภาพรวม และเห็นภาพสำเร็จที่ตนเองกำลังลงมือทำ
8. สนุกกับภาพพับตัด ภาพพับเจาะ ทำได้ง่ายๆ เพียงนำกระดาษ A4 มาพับครึ่ง แล้วตัดเป็นรูปทรงต่างๆ เช่น หัวใจ ดาว สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม แล้วชวนลูกเล่นทายว่า ถ้ากางกระดาษออกมาจะเป็นรูปอะไร กิจกรรมนี้ช่วยให้ลูกเรียนรู้การสร้างภาพในใจ คิดเชื่อมโยงจากภาพที่เห็นตรงหน้า แล้วจินตนาการต่อว่าจะเป็นภาพแบบไหน
9. ทายลูกเต๋า ให้ลูกดูลายของลูกเต๋าเมื่อกางออก แล้วให้ลูกลองทายว่า เมื่อพับลูกเต๋าเป็นทรงกล่องสี่เหลี่ยม มีฝาบิดด้านบนและด้านล่าง ลายของลูกเต๋าที่ถูกต้องจะเป็นแบบไหน
10. ใช้หนังสือ Activity Book เลือกหนังสือที่มีเกมสนุกเกี่ยวกับการหาความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ เช่นการลากเส้นวาดภาพตามแบบ ลากเส้นต่อจุดแล้วทายว่าจะปรากฏเป็นรูปอะไร การทายภาพ 2 มิติที่ถูกต้องเมื่อกระดาษถูกพับเป็นรูปทรง 3 มิติ การจัดลำดับสิ่งของต่างๆ ก็ช่วยให้เด็กๆ เข้าใจในเรื่องมิติสัมพันธ์ เกิดจินตนาการ สามารถคิดเป็นภาพในใจได้
หนังสือ “ตามหารูปทรงกับป๋องแป๋ง” เป็น Activity Book เตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน ที่ช่วยเสริมเชาวน์ลูกน้อยฝึกทักษะด้านมิติสัมพันธ์ มองภาพรวม คาดคะเน กระตุ้นให้สมองทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ มีสมาธิ ความตั้งใจจดจ่อในการคิดแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล ผ่านเกมสนุกหลากหลายรูปแบบ ทั้งเกมตัวต่อจิ๊กซอว์ เกมทายภาพพับตัด ภาพพับเจาะ เกมทายลายลูกเต๋า เป็นต้น
คุณพ่อคุณแม่สอนลูกอย่างค่อยเป็นค่อยไปในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย ให้เขาได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานผ่านเกม กิจกรรม การเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยให้ลูกเกิดทัศนคติที่ดีในการเรียนรู้ และจดจำข้อมูลได้เร็ว อย่าลืมชื่นชมเมื่อลูกทำได้ เพื่อให้ลูกเกิดความภูมิใจในตัวเองและมีความพยายามที่จะทำให้ดียิ่งขึ้นต่อไป
#รูปทรงเรขาคณิต #มิติสัมพันธ์ #ฝึกเชาวน์ #นิทานป๋องแป๋ง #ตามหารูปทรงกับป๋องแป๋ง
(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)