ลูกไม่ยอมสระผม ทำอย่างไรดี
ปัญหา "ลูกไม่ยอมสระผม" มักจะเกิดจากประสบการณ์ที่ไม่ดี ที่เจ้าตัวน้อยเคยเจอมา ในวัยทารกนั้นไม่ว่าจะอาบน้ำหรือสระผม คุณพ่อคุณแม่ก็จัดการให้ลูกรักได้อย่างใจ แต่พอลูกเริ่มโต พูดเก่ง ต่อรองได้ ลูกก็อาจจะปฏิเสธ ร้องไห้งอแง ร้องกรี๊ด หรือวิ่งหนีออกจากห้องน้ำไปเลย
จะเป็นอย่างไรถ้าลูกไม่สระผมนาน ๆ
ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อยู่ในวัยชอบวิ่งเล่นซน หรือทำกิจกรรมบ่อย ๆ การอาบน้ำเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องสระผมเป็นประจำเพื่อลดการหมักหมมของเชื้อโรค หากลูกอยู่บ้านไม่ได้ออกไปไหน ไม่ได้ทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออก ก็สามารถสระผมให้ลูกวันเว้นวันหรือสองวันครั้งในช่วงเย็นแล้วเป่าผมให้แห้งสนิทก่อนเข้านอน
หากเด็กอยู่ในช่วงวัยกำลังซน ชอบวิ่งเล่นนอกบ้านจนเหงื่อท่วม ไปคลุกดินเปื้อนฝุ่นเล่นทราย หรือแม้แต่กินอาหารจนเปรอะเปื้อนไปทั้งใบหน้าและเส้นผม ควรสระผมในช่วงเย็นให้สะอาดก่อนเข้านอนเป็นประจำ เพราะศีรษะของลูกที่เจอกับฝุ่นควันหรือเหงื่อจะสะสมจนเกิดอาการคันได้ หากไม่สระผมจะทำให้เชื้อโรคและเหงื่อมาเปื้อนหมอนหรือที่นอน เกิดเป็นกลิ่นไม่พึงประสงค์ ยิ่งถ้ามีเศษอาหารหรือดินทรายที่ลูกไปเล่นมาติดตามเส้นผมด้วยแล้วจะยิ่งเชื้อเชิญสัตว์บางชนิดมาบนที่นอนได้ ซึ่งหนึ่งในแมลงที่ใคร ๆ ก็ขยาดคือ เหา ซึ่งติดต่อผ่านทางสัมผัสอย่างใกล้ชิด ติดได้จากการเล่นด้วยกัน ใช้ข้าวของเครื่องใช้ร่วมกัน หรือการนอนเตียงเดียวกัน เด็ก ๆ ที่ชอบเล่นกับเพื่อนจึงมีโอกาสที่จะติดเหากันได้ง่าย
การไม่สระผมเป็นเวลานานยังทำให้ผมพันกัน มีกลิ่นอับ เกิดความมันบนหนังศีรษะจนคัน กลายเป็นแหล่งสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ยิ่งเกาก็ยิ่งเกิดเป็นแผล จากปัญหาเล็ก ๆ อย่างการไม่ยอมสระผมของลูก อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ยอมตามใจปล่อยให้ลูกน้อยไม่สระผมไปเรื่อย ๆ
เทคนิคจูงใจลูกให้ยอมสระผม
ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทำไมลูกไม่อยากสระผม ถ้าเป็นเพราะห่วงเล่นอยากรีบไปเล่นต่อเร็ว ๆ ก็ต้องยื่นคำขาดให้ลูกอาบน้ำสระผมจนเรียบร้อยเสียก่อน โดยใช้น้ำเสียงที่อ่อนโยน หรือกำหนดช่วงเวลาอาบน้ำสระผมให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ในช่วงเวลาเดิม ๆ เพื่อสร้างนิสัยให้ลูกรักความสะอาด
หากลูกไม่ชอบสระผมเพราะลูกเคยถูกแชมพูเข้าตา น้ำเข้าหู หรือสำลักน้ำมาก่อน ทำให้ลูกฝังใจและกลัวการสระผม คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องทำความเข้าใจและสร้างบรรยากาศให้ลูกรู้สึกอยากอาบน้ำและสระผม ดังนี้
● บอกลูกรู้ถึงผลลัพธ์ของการไม่ยอมสระผม พูดกับลูกว่าถ้าไม่ยอมสระผมจะเกิดอะไรขึ้นด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ค่อย ๆ อธิบายให้เด็กแต่ละช่วงวัยเข้าใจได้ง่าย ๆ เช่น ถ้าลูกไม่สระผมแล้วลูกจะคัน รู้สึกไม่สบายตัว เกิดกลิ่นเหม็นติดตัว หรือจะมีแมลงมาอาศัยอยู่ในเส้นผม
● อ่านนิทานเพื่อเตรียมความพร้อม เด็กเล็กอยู่ในวัยชอบเลียนแบบ ลองอ่านนิทานที่เกี่ยวกับการอาบน้ำสระผมบ่อย ๆ ลูกจะซึมซับพฤติกรรมของตัวละคร
● สร้างบรรยากาศให้ลูกอยากอาบน้ำสระผม ตกแต่งห้องน้ำให้เด็กอยากเข้ามาใช้ ชวนลูกเล่นฟองแชมพูสระผม หาของเล่นมาเล่นในห้องน้ำเพื่อจูงใจให้เด็กอยากอาบน้ำสระผม เช่น ตุ๊กตาเป็ดลอยน้ำหรือหนังสือลอยน้ำ
● ให้เด็กได้มีส่วนร่วม เด็กจะรู้สึกสนุกขึ้นหากได้มีส่วนร่วมง่าย ๆ อย่างการให้หยิบขวดแชมพูมาเอง หรือให้ลูกช่วยเลือกของเล่นที่นำเข้ามาในห้องน้ำมาเป็นเพื่อนลูกในการอาบน้ำสระผม
● แชมพูต้องใช้สำหรับเด็กโดยเฉพาะ การอาบน้ำสระผมต้องระวังไม่ให้แชมพูหรือสบู่เข้าตา อย่าให้น้ำเข้าหู จึงจำเป็นต้องเลือกแชมพูสำหรับเด็กเพื่อลดอาการระคายเคือง ไม่มีส่วนผสมของสารเคมีอันตราย ไม่ทำให้แสบตาหรือก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อหนังศีรษะ
● ใช้หมวกสระผม ใช้อุปกรณ์ช่วยป้องกันฟองแชมพูเข้าตาหรือเข้าหูลูก
● ให้ลูกนอนหงายสระผม ปรับท่าทางการสระผมให้ลูก โดยให้ลูกนอนหงายพาดศีรษะเหนืออ่างน้ำจะช่วยลดปัญหาแชมพูเข้าตาได้
การแก้ปัญหาลูกไม่ชอบสระผมที่ดีที่สุดคือแก้จากต้นเหตุ ลูกกลัวสิ่งไหน ไม่ชอบสระผมเพราะอะไร ถ้าลูกรู้สึกไม่สนุกก็สร้างช่วงเวลาการอาบน้่ำสระผมให้สนุกขึ้นด้วยการเล่นเกม เชื้อเชิญให้ลูกสระผมด้วยของเล่น แต่สิ่งที่ไม่ควรทำคือการบังคับขู่เข็ญ เลือกวิธีการสร้างเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม เพื่อให้การสระผมเป็นช่วงเวลาดี ๆ ของเจ้าตัวน้อยกันดีกว่า
นิทาน “ไม่เอาปิงปิงไม่สระ” ลูกไม่ชอบหรือกลัวการสระผม ต้องทำอย่างไร
การอาบน้ำสระผมเป็นเรื่องของสุขอนามัยที่สำคัญ เมื่อร่างกายสะอาดก็ปราศจากเชื้อโรคที่ทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่าย ๆ เมื่อลูกรู้สึกกลัวการสระผม จึงจำเป็นต้องใช้ตัวช่วยอย่าง หนังสือนิทาน “ไม่เอาปิงปิงไม่สระ” เพื่อชี้ให้ลูกเห็นว่า ถ้าลูกไม่ยอมสระผมจะเกิดอะไร ถ้าปล่อยให้ผมยุ่งเหยิงพันกันนาน ๆ จะน่ากลัวขนาดไหน
นิทาน ไม่เอาปิงปิงไม่สระ ยังช่วยเสริมสร้างทักษะทางสมองที่สำคัญอย่าง EF ได้ด้วย คุณพ่อคุณแม่สามารถชักชวนลูกพูดคุยถึงเหตุการณ์ในเรื่องนี้ ชวนลูกคิดว่า ถ้าไม่สระผมนาน ๆ จะมีตัวอะไรบ้างมาอาศัยอยู่ในผมของลูก พร้อมเชื่อมโยงความรู้จากในเรื่องให้ลูกได้อธิบายถึงสัตว์ต่าง ๆ หรือแมลงที่ลูกรู้จัก จะช่วยให้เด็กได้ฝึกการจำเพื่อใช้งานและการจดจ่อมีสมาธิ การอ่านนิทานพร้อมกับชวนลูกสังเกตและตั้งคำถาม จะช่วยให้ลูกได้หัดคิด เป็นพื้นฐานของการต่อยอดความคิดที่สำคัญเมื่อเติบโตขึ้นอีกด้วย
(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)