สอนลูกให้รู้จักขอบคุณ มารยาทไทยที่ใครก็หลงรัก
มารยาทไทยเป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่เห็นก็รัก ใครเห็นก็เห็นดู หนึ่งในมารยาทที่สำคัญคือ "สอนลูกให้รู้จักขอบคุณ" เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ถึงการเป็นผู้รับที่ดี ไม่ว่าจะเป็นการรับของ หรือรับการช่วยเหลือจากคนอื่น
การกล่าวขอบคุณและการไหว้ขอบคุณ เป็นการแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ดีงาม สะท้อนถึงการอบรมเลี้ยงดูและการศึกษา การสอนลูกให้รู้จักขอบคุณตั้งแต่เด็ก จะช่วยให้ลูกมีมารยาททางสังคมที่ดีติดตัวไป ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญในการเข้าสังคม
"ขอบคุณ" ต้องใช้เมื่อไร
การเอ่ยปากขอบคุณผู้อื่น ใช้เมื่อผู้อื่นให้สิ่งของ ให้ความช่วยเหลือ หรือแม้แต่การให้บริการ ไม่ว่าจะให้หรือทำสิ่งนั้นด้วยหน้าที่ หรือทำด้วยน้ำใจ ความเอื้อเฟื้อ ก็ควรจะกล่าวขอบคุณเสมอ โดยการกล่าวคำว่า “ขอบคุณ” จะใช้กับผู้ที่มีอาวุโส ผู้ที่มีอายุมากกว่า หรือคนที่อยู่ในวัยเดียวกัน แต่หากคนที่อายุน้อยกว่าจะใช้คำว่า "ขอบใจ"
ระดับของการกล่าวขอบคุณนั้น แบ่งออกเป็น
- ขอบคุณ
- ขอบคุณมาก
- ขอบพระคุณมาก (ใช้กับผู้อาวุโส)
- ขอบใจ
- ขอบใจมาก
สิ่งสำคัญที่สุด ไม่ใช่เพียงคำพูดว่า ขอบคุณ แต่ในความหมายของคำพูดนั้น ผู้พูดควรรู้สึกจากใจจริง ๆ ประกอบกับการทำกิริยาท่าทาง ที่แสดงถึงความซาบซึ้งใจ คำว่า "ขอบคุณ" จึงจะมีความหมาย การสอนลูกให้รู้จักขอบคุณจึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่เรื่องของความรู้สึก ซึ่งจะถูกแสดงออกผ่านท่าทางการไหว้ น้ำเสียง ทำให้ผู้ฟังสามารถรับรู้ได้ว่า คำขอบคุณนั้น ออกมาจากใจจริง ๆ
คำขอบคุณนั้น ต้องสอนควบคู่กับการไหว้อย่างถูกต้อง ในตอนเล็ก ๆ ให้จับมือลูกประนมอย่างนุ่มนวลเวลากล่าวขอบคุณผู้อื่น โดยการไหว้ผู้อาวุโสหรือผู้ที่มีอายุมากกว่าให้ประนมมือนิ้วชิดกัน ก้มศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดกับปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว ส่วนผู้ที่อายุมากกว่าเล็กน้อยให้ประนมมือนิ้วชิดกันแล้วยกขึ้นพร้อมทั้งก้มศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วแนบปลายจมูก
4 เทคนิค สอนลูกให้รู้จักขอบคุณ
การสอนลูกให้รู้จักขอบคุณสามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่กำลังหัดพูด โดยพูดบ่อย ๆ จนลูกคุ้นเคย ลูกจะซึมซับและเข้าใจความหมายของคำว่า ขอบคุณ
1. กล่าวขอบคุณให้ลูกเห็นเป็นประจำ
คนในครอบครัวและคุณพ่อคุณแม่ควรจะพูดคำว่า ขอบคุณ ให้ติดเป็นนิสัย ทั้งการขอบคุณคนในครอบครัว หรือการขอบคุณคนอื่น เช่น คุณพ่อขอบคุณคุณแม่ที่ทำอาหารอร่อย ๆ, คุณแม่ขอบคุณคนที่ลุกให้นั่งบนรถไฟฟ้า, กล่าวขอบคุณคนที่มาช่วยยกของหนัก และขอบคุณพนักงานเสิร์ฟที่นำอาหารมาให้
แม้แต่การพูดขอบคุณลูกก็ควรทำเป็นประจำ เวลาที่ลูกให้ความช่วยเหลือ โดยทุกครั้งที่เอ่ยปากต้องสบตากับลูกเสมอ พร้อมกับพูดด้วยเสียงดังฟังชัดด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้ม เช่น ขอบคุณนะลูกที่ช่วยแม่หยิบผ้าเช็ดหน้า และขอบคุณนะคะที่ช่วยแม่เก็บของ
2. ชวนลูกขอบคุณ
ฝึกให้ลูกพูดขอบคุณด้วยการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง เช่น ให้ของกับลูก คุณพ่อคุณแม่ก็พูดแทนลูกได้ว่า "ขอบคุณครับ" หรือ "ขอบคุณค่ะ" พร้อมกับทำท่าไหว้ แล้วให้ลูกพูดและทำตาม การขอบคุณไม่ใช่แค่มารยาททางสังคมที่ทำกับมนุษย์เท่านั้น แต่เรายังสามารถขอบคุณสิ่งรอบตัวอย่างธรรมชาติได้ด้วย การปลูกฝังให้ลูกขอบคุณด้วยความจริงใจ จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่ทำให้ลูกรู้สึกซาบซึ้งกับทุกสิ่งรอบตัวที่ทำให้เรารู้สึกดี
3. สอนลูกเรื่องการขอบคุณตามวัยโดยไม่คาดหวัง
เด็กแต่ละคนมีความพิเศษที่แตกต่างกันไป เด็กบางคนเรียนรู้บางเรื่องได้ไว แต่เด็กอีกคนกลับเข้าใจบางเรื่องได้เร็วกว่า สิ่งสำคัญคือการสอนโดยให้เวลา ไม่คาดหวัง ไม่เอาความกดดันไปให้ลูกแบกรับ โดยเด็กในวัยต่ำกว่า 3 ปี อาจต้องค่อย ๆ อธิบายกว่าลูกจะเข้าใจว่า เราจะขอบคุณไปทำไม
การสอนลูกที่สำคัญคือการทำให้เห็น หากเรายื่นของให้ลูก แต่ลูกไม่ยอมขอบคุณ ก็ให้ถือของชิ้นนั้นไว้ก่อน แต่หากลูกยังไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ค่อยสอนลูกว่า เมื่อมีคนให้ของต้องบอกว่า "ขอบคุณ" แล้วให้เด็กลองทำตามด้วยการไหว้ขอบคุณ
4. ชื่นชมเมื่อลูกขอบคุณ
การฝึกให้ลูกเรียนรู้มารยาทหรือมีพฤติกรรมที่ดี ต้องอาศัยการชื่นชมให้เด็กรู้สึกอยากทำสิ่งนั้น เช่น "วันนี้แม่เห็นว่าหนูขอบคุณคุณครูที่โรงเรียน เก่งมากเลยนะจ๊ะ" พร้อมกับสอนให้ลูกได้เข้าใจว่า เด็กที่ไหว้ขอบคุณผู้ใหญ่นั้น เป็นมายาทที่ดี ทำให้คนที่เห็นรู้สึกชื่นชม
คำว่า ขอบคุณ เป็นคำที่สอนได้ไม่ยาก แต่การขอบคุณที่แสดงออกมาจากความรู้สึกที่แท้จริงในใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปลูกฝังให้ลูกเข้าใจถึงความหมายของคำว่า ขอบคุณ เมื่อลูกรับรู้ได้ก็จะแสดงออกไปด้วยความจริงใจ สร้างรอยยิ้มให้ทั้งผู้ให้และผู้รับอย่างแท้จริง
นิทาน “ปิงปิงขอบคุณค่ะ” สอนลูกให้รู้จักขอบคุณ
สอนลูกให้รู้จักขอบคุณ ด้วยวิธีง่าย ๆ จากการใช้หนังสือนิทานเป็นสื่อ "ปิงปิงขอบคุณค่ะ" ปลูกฝังให้ลูกเข้าใจความรู้สึกขอบคุณจากใจด้วยนิทานปิงปิง ที่กล่าวขอบคุณคนรอบตัวอยู่เสมอ ช่วยเติมเต็มความสุขให้ทั้งผู้พูดผู้ฟัง
การอ่านนิทาน "ปิงปิงขอบคุณค่ะ" ยังช่วยให้ลูกได้พัฒนา EF ฝึกทักษะสมองให้ลูกคิดเป็น โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกคุยเชื่อมโยงความรู้ผ่านประสบการณ์เดิมของลูก ชวนลูกคิดต่อโดยตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบร่วมกัน และชวนให้ลูกมองกลับมาที่ตนเอง "ถ้าลูกเป็นปิงปิงจะทำอย่างไร" สิ่งเหล่านี้เป็นการฝึกให้ลูกใช้ทักษะ EF เพื่อพัฒนาสมองต่อไปสู่อนาคต
(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)