4 วิธีสอนลูกขอโทษให้เป็น
คำว่า ขอโทษ เป็นคำที่ควรสอนลูกตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะคนเรานั้นทำผิดพลาดกันได้ แต่ควรรู้สึกผิดและใส่ใจความรู้สึกของผู้อื่น การขอโทษจึงควรออกมาจากใจจริง ซึ่งเป็นพื้นฐานของจิตใจที่ควรปลูกฝังให้เจ้าตัวน้อย และแม้ว่า พ่อแม่จะพร่ำสอนในเรื่องนี้แล้ว บางครั้งก็พบปัญหา "ลูกไม่ขอโทษ" ที่ทำให้ต้องหนักใจอยู่บ่อย ๆ
"ขอโทษ" ควรใช้ตอนไหน
คำกล่าวขอโทษนั้นมักจะใช้ในหลากหลายสถานการณ์ เช่น
● ขอโทษเมื่อทำสิ่งที่ไม่ดีหรือสิ่งที่ผิดพลาด
● ขอโทษเมื่อทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สมควรทำ
● ขอโทษเมื่อรบกวนผู้อื่น ทั้งการขัดจังหวะเวลาพูดคุย หรือรบกวนให้ทำบางอย่าง
● ขอโทษเมื่อพูดหรือแสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสม ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจ
สำหรับการกล่าวขอโทษกับผู้ที่มีอายุมากกว่าควรยกมือไหว้พร้อมกันไปด้วย ในเด็กเล็กการสอนให้ไหว้ผู้ที่อาวุโสกว่า ควรจับมือลูกประนมชิดกัน ก้มศีรษะลงให้หัวแม่มือจรดกับปลายจมูก ปลายนิ้วแนบระหว่างคิ้ว และนอกจากการไหว้พร้อมกล่าวคำขอโทษ สิ่งที่มากกว่าการกล่าวออกมาเป็นคำว่า ขอโทษ การขอโทษนั้นควรใช้เมื่อผู้พูดรู้สึกผิดจากการกระทำและจากคำพูด จึงจะมีความหมายและทำให้ผู้ฟังรู้สึกดีขึ้นจนพร้อมที่จะให้อภัย
ชวนลูกหันมาใส่ใจความรู้สึกคนอื่น
เมื่อลูกทำผิดแล้วไม่ยอมขอโทษ คุณพ่อคุณแม่จำเป็นต้องปลูกฝังเรื่องการเรียนรู้ที่จะใส่ใจความรู้สึกคนอื่น ผู้ซึ่งได้รับผลกระทบจากการกระทำของลูก เมื่อลูกไม่ขอโทษจึงไม่ควรสั่งให้ลูกขอโทษในทันที แต่ให้ชวนลูกนึกถึงสิ่งที่ทำลงไป เช่น "หนูพูดว่า หนูไม่รักคุณพ่อแล้ว หนูคิดว่าคุณพ่อจะรู้สึกยังไงคะ" และควรให้ลูกได้รับรู้ถึงผลของการกระทำ เช่น "หนูผลักแม่แบบนี้ แม่เจ็บนะคะ และแม่รู้สึกเสียใจที่ลูกผลักแม่" จากนั้นอาจปฏิบัติตัวต่างจากเดิมและบอกลูกไปว่า "แม่ขอเวลาอยู่คนเดียวก่อนนะคะ เพราะแม่รู้สึกเสียใจที่ลูกผลักแม่" การที่เด็กได้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นทำให้คนอื่นรู้สึกอย่างไร จะช่วยให้เด็กรู้สึกเห็นใจและเข้าใจความรู้สึกคนอื่นมากขึ้น
คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสอบถามลูกด้วยว่า ทำไมลูกถึงทำแบบนั้น หรือพูดจาอย่างนั้นออกมา การรับฟังความคิดเห็นของลูกจะช่วยให้เราเข้าใจถึงสาเหตุที่ลูกทำหรือพูดออกมา และง่ายต่อการสอนลูกเรื่องการขอโทษ
4 วิธีสอนลูก "ขอโทษให้เป็น"
การสอนลูก "ขอโทษให้เป็น" ควรเริ่มต้นตั้งแต่เล็ก ๆ ฝึกให้เด็กพูดคำว่า ขอโทษ ตั้งแต่เริ่มหัดพูดได้ จากนั้นค่อย ๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจความหมายของคำว่า ขอโทษ ในอายุ 2 ปีขึ้นไปที่เด็กจะเริ่มรู้ความและฝึกพูด การสอนลูกให้ขอโทษตั้งแต่เล็กจะทำให้ลูกเรียนรู้สิ่งที่ควรทำ ไม่ควรทำ เป็นพื้นฐานในการสอนจิต สำหรับวิธีสอนลูกขอโทษ ทำได้ 4 ข้อดังนี้
1. คนในครอบครัวต้อง "ขอโทษ" เมื่อทำผิด
การเป็นตัวอย่างที่ดีเป็นสิ่งสำคัญเสมอ เพราะเด็กจะเรียนรู้เติบโตในสภาพแวดล้อมแบบไหน เด็กก็จะเป็นคนแบบนั้น การยอมรับความผิดพลาดเป็นสิ่งที่ดี มนุษย์ทุกคนย่อมทำผิดพลาดกันได้เสมอ สำคัญที่ทำผิดแล้วรู้สึกผิดจากใจและขอโทษออกมา โดยเฉพาะเวลาที่ทำผิดต่อลูก อย่าอายที่จะขอโทษลูก เช่น "คุณแม่ขอโทษด้วยนะคะที่ตะคอกใส่หนู คุณแม่ไม่ได้ตั้งใจ" เมื่อคนในครอบครัวขอโทษกันเป็นประจำ หากพูดหรือทำในสิ่งที่ไม่ดี ลูกก็จะเรียนรู้ได้เร็วขึ้น
2. สอนลูกเรื่องความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ก่อนที่จะพูดขอโทษออกมา ลูกควรรู้สึกถึงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเสียก่อน ด้วยการสะท้อนความรู้สึกหรือผลของการกระทำให้ลูกเห็น เช่น "ถ้าหนูถูกเพื่อนผลักแบบนั้น ก็คงเสียใจใช่ไหมคะ วันนี้ที่หนูไปผลักเพื่อน เพื่อนคงเสียใจมากแน่ ๆ เลย" เมื่อลูกได้เอาใจเขามาใส่ใจเราจะเรียนรู้ว่า การพูดหรือกระทำบางอย่าง ส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร ทำแล้วผู้อื่นเป็นทุกข์ แล้วลูกก็จะเข้าใจถึงความหมายของการขอโทษ พร้อมกับแสดงออกถึงการขอโทษที่เกิดจากใจจริง ๆ
3. ให้เวลาลูกทำความเข้าใจเรื่องการขอโทษ
เด็กอาจจะไม่ได้ขอโทษทุกครั้ง หรือพูดขอโทษแบบขอไปที คุณพ่อคุณแม่ควรค่อย ๆ อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงการขอโทษ พร้อมกันนั้นไม่ควรสั่ง บังคับ หรือกดดันให้ลูกขอโทษ เพราะลูกอาจรู้สึกต่อต้านการขอโทษ ไม่เป็นผลดีในระยะยาว กลายเป็นว่า เด็กจะขอโทษเพื่อให้ปัญหานั้นจบไปโดยไม่ได้รู้สึกผิด ในอนาคตลูกก็จะทำผิดอย่างเดิมซ้ำ ๆ และคิดว่า แค่ขอโทษเรื่องก็จบแล้ว การสอนให้ลูกขอโทษเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะสอนให้ลูกรู้จักผิดชอบชั่วดี และการกล้ายอมรับในสิ่งที่ทำลงไป ไม่หลีกหนีความผิดหรือปกปิดสิ่งที่ตัวเองทำ
4. สอนลูกให้เข้าใจความผิดพลาดเป็นสิ่งที่แก้ไขได้
หากดุด่าว่ากล่าวเด็กมากจนเกินไปจะทำให้เด็กไม่กล้าพูดความจริง กลัวความผิด ไม่กล้าขอโทษออกมา การที่ลูกไม่ขอโทษอาจเป็นเพราะว่ากลัวการยอมรับผิดก็เป็นได้ สิ่งที่ควรสอนควบคู่กันไปคือ การสอนให้เด็กกล้าทำกล้ารับผิดชอบในสิ่งที่พูดหรือทำลงไป แล้วขอโทษด้วยความรู้สึกเสียใจ เมื่อลูกกล่าวคำขอโทษแล้ว ควรชมเชยลูกที่กล้ายอมรับความผิด พร้อมกับแนะนำวิธีแก้ไขจากความผิดพลาดนั้น เช่น ลูกทำจานแตก ครั้งหน้าลูกควรถืออย่างไรให้กระชับมือ และสอนการเก็บกวาดเศษจานไปทิ้งอย่างปลอดภัย
ลูกน้อยอาจสงสัยเรื่องการขอโทษและตั้งคำถาม เช่น "ทำไมต้องขอโทษ" คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจ อย่าเพิ่งถือโทษโกรธลูก เพราะเด็กเล็ก ๆ จะตั้งคำถามจากความอยากรู้ของตัวเอง พร้อมกับให้เวลาลูกในการเรียนรู้ที่จะเห็นใจผู้อื่นและรู้จักขอโทษจากหัวใจ
นิทาน “ปิงปิงขอโทษค่ะ” สอนลูก "ขอโทษให้เป็น"
ปัญหา "ลูกไม่ขอโทษ" ต้องอาศัยเวลาในการสอนให้ลูกเข้าใจถึงความหมายของการขอโทษ การใช้ตัวช่วยอย่างหนังสือนิทานจะช่วยให้ลูกเข้าใจได้ง่ายขึ้น โดยสื่อสารกับลูกผ่านตัวละคร "ปิงปิง" ชวนให้ลูกคิดว่า การขอโทษนั้นสำคัญและทุกคำขอโทษนั้นควรออกมาจากหัวใจ
นิทาน “ปิงปิงขอโทษค่ะ” ยังช่วยพัฒนาทักษะสมอง EF โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถชวนลูกตั้งคำถามเชื่อมโยงความรู้จากในนิทาน อย่างการไปสวนสนุกของปิงปิงนั้น ลูกเคยเล่นเครื่องเล่นอะไรบ้าง ชวนให้ลูกคิดผ่านประสบการณ์เดิมที่จะช่วยฝึกการจำเพื่อใช้งาน และชวนลูกคิดต่อด้วยการตั้งคำถามจากนิทานในเล่ม พร้อมกับชวนลูกหาคำตอบร่วมกัน เสริมสร้างทักษะที่สำคัญให้ลูกหัดสังเกต คิดวิเคราะห์ และยังได้สร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับลูกอีกด้วย
(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)