Pass Education Co.,Ltd
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
พาส เอ็ดดูเคชั่น สวัสดีจ้า
เริ่มแชท

6 วิธีสอนลูกไหว้ สวัสดี

6 วิธีสอนลูกไหว้ สวัสดี

6 วิธีสอนลูกไหว้ สวัสดี

 

ปัญหาน่าหนักใจของคนเป็นพ่อเป็นแม่คือการที่ "ลูกไม่ยอมสวัสดี" แม้ว่าจะเคยสอนลูกไหว้ สวัสดีแล้ว แต่เด็กก็ยังไม่ยอมทำตาม ทั้งที่เป็นมารยาทที่สำคัญในสังคมไทย

 

เรื่องมารยาททางสังคมและกาลเทศะเป็นสิ่งสำคัญที่ควรสอนลูกตั้งแต่ยังเล็กเพื่อให้เด็กคุ้นเคย ฝึกเป็นนิสัยติดตัวไปจนถึงตอนโต โดยเฉพาะการไหว้ทำความเคารพ หรือการไหว้ทักทายสวัสดี ที่คุณพ่อคุณแม่ควรเร่งปลูกฝังเรื่องนี้

 

"ลูกไม่ยอมสวัสดี" พ่อแม่ควรทำอย่างไร

การสอนลูกไหว้หรือสวัสดีเป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรเริ่มสอนลูกตั้งแต่เล็ก ใช้ความอดทนฝึกให้ลูกคุ้นเคยกับการไหว้สวัสดี ซึ่งท่าทางการประนมมือไหว้นั้น พ่อแม่สามารถทำให้ดูเป็นตัวอย่างได้ตั้งแต่ลูกอายุ 1 ขวบ และเริ่มสอนอย่างจริงจังในช่วงวัย 2 ขวบที่ลูกรู้ความมากขึ้นแล้ว พร้อมกับสอน 3 คำสำคัญที่ควรให้ลูกเรียนรู้ตั้งแต่วัยเยาว์ได้แก่ "สวัสดี" "ขอโทษ" และ "ขอบคุณ" เพราะทั้ง 3 คำนี้มักจะใช้ร่วมกับการไหว้

 

ช่วงวัย 1-3 ปี เป็นวัยหัดพูดและเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ ๆ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มสอนจากคำทักทาย "สวัสดี" กล่าว "ขอบคุณ" เมื่อได้รับสิ่งของหรือการช่วยเหลือ กล่าว "ขอโทษ" เมื่อทำผิด และ "ไม่เป็นไร" เพื่อเรียนรู้การให้อภัยผู้อื่น ส่วนการไหว้นั้นให้สอนลูกด้วยการใช้ฝ่ามือทั้งสองประนมประกบกัน เด็กเล็กควรจับมือลูกไหว้ไปพร้อมกันจะช่วยให้เด็กเข้าใจการไหว้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งการไหว้แบ่งออกเป็น 3 ระดับ

 

การไหว้ระดับที่ 1 : ให้นิ้วหัวแม่มือจรดระหว่างคิ้ว นิ้วชี้สัมผัสส่วนบนของหน้าผาก ใช้สำหรับไหว้พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ รวมถึงโบราณสถาน โบราณวัตถุทางพุทธศาสนา

 

การไหว้ระดับที่ 2 : ให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก นิ้วชี้สัมผัสระหว่างคิ้ว การไหว้ระดับนี้ใช้บ่อยที่สุด เพราะเป็นการไหว้สวัสดี ขอบคุณ หรือขอโทษ พ่อแม่ ผู้ใหญ่ในครอบครัว ครูอาจารย์ และบุคคลที่เคารพ

 

การไหว้ระดับที่ 3 : ให้นิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง นิ้วชี้สัมผัสบริเวณปลายจมูก ใช้สำหรับไหว้คนที่มีวัยวุฒิสูงกว่าไม่มากนักหรือมีอายุพอ ๆ กัน

 

แม้ว่าพ่อแม่จะปลูกฝังให้ลูกรู้จักการไหว้หรือสวัสดีแล้ว แต่บางครั้งเจ้าตัวน้อยก็ดื้อดึงไม่ยอมทำตาม ไม่ยอมสวัสดีผู้ใหญ่ หรือเพื่อนของพ่อแม่ตามที่พร่ำสอนเอาไว้ โดยเฉพาะในช่วงวัยที่เด็กเริ่มคิดเป็น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการฝึกลูกเสียใหม่

 

6 วิธีสอนลูกไหว้ ฝึกลูกให้รู้จัก "สวัสดี"

 

1) พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบ

การเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก จะทำให้ลูกเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญและคุ้นเคยกับการกระทำนั้น ๆ เช่น ยกมือไหว้พร้อมกับพูดคำว่า สวัสดี ต่อหน้าญาติผู้ใหญ่ให้ลูกเห็น หมั่นเอ่ยคำว่า สวัสดีบ่อย ๆ ภายในครอบครัว เด็กก็จะเคยชินกับการเอ่ยปากทักทายด้วยคำว่า สวัสดี พร้อมกับซึมซับการประนมมือไหว้เมื่อเอ่ยคำว่า สวัสดี เพราะการพูดสอนลูกเพียงอย่างเดียวไม่ได้ผลเท่ากับการทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกทำตาม โดยเฉพาะช่วงวัย 2-4 ปี ที่เด็กจะเลียนแบบผู้ใหญ่หรือคนรอบ ๆ ตัว

 

2) สอนให้ลูกรู้ความหมายของการไหว้

สิ่งสำคัญที่ควรปลูกฝังลูกคือให้ลูกเรียนรู้และเข้าใจว่า การไหว้ไม่ใช่เรื่องของมารยาทแต่เพียงอย่างเดียว ควรออกมาจากใจ เป็นเรื่องที่งดงามของประเพณีไทยที่ควรสืบทอดต่อไป จึงควรสอนลูกให้รู้จักการไหว้และกล่าวสวัสดีทักทายผู้ใหญ่ เพื่อแสดงถึงความเคารพและให้เกียรติ

 

3) ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าต้องเจอคนอื่น บอกให้ลูกเตรียมตัวก่อน

หากเป็นการนัดหมายเพื่อพบเจอผู้หลักผู้ใหญ่ คนในครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนของคุณพ่อคุณแม่ ก็ควรบอกให้ลูกได้เตรียมตัวก่อนว่าจะไปพบเจอกับผู้ใหญ่ พร้อมกับย้ำถึงการไหว้และสวัสดี เช่น "วันนี้เราจะไปหาคุณตาคุณยายกันนะคะ ถ้าเจอแล้วอย่าลืม สวัสดี คุณตาคุณยายนะคะลูก" บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะตั้งคำถามพร้อมกับสาธิตการสวัสดีให้ลูกดูด้วย เช่น "ถ้าเจอลุงโก้ ต้องทำยังไงคะ ต้องสวัสดีใช่ไหม จำการไหว้ที่แม่เคยสอนได้ไหมลูก ทำแบบนี้นะคะ"

 

4) ให้ลูก "สวัสดี" ด้วยความเต็มใจ

ไม่ควรบังคับให้ลูกไหว้ แต่ควรสอนให้ลูกเข้าใจถึงความสำคัญของการไหว้และกล่าวสวัสดีทักทาย พร้อมกับให้ทางเลือกกับลูกด้วย เช่น "ถ้าไปเจอเพื่อนคุณแม่ หนูอยากทักทายยังไงคะ" ถ้าถึงเวลาที่เจอกันแล้วลูกไม่ยอมสวัสดี ก็พูดกับลูกด้วยความเข้าใจว่า "วันนี้ลูกไม่อยากสวัสดี เพราะเพิ่งจะเคยเจอกับเพื่อนแม่ ไหนลองทักทายแบบอื่นดีไหม" ลูกอาจยอมให้จับมือหรือให้แตะมือได้ หากได้เจอกันอีก จนลูกคุ้นเคยแล้ว ลูกก็จะสวัสดีได้ง่ายขึ้น

 

5) ชมเชยลูกเมื่อไหว้สวัสดี

การชมเชยย่อมได้ผลดีกว่าการบังคับหรือดุว่า หากลูกเริ่มไหว้สวัสดีได้แล้วให้กล่าวชม "ลูกน่ารักมากเลย สวัสดีคุณป้าด้วย"

 

6) ให้เวลาเด็กได้เรียนรู้

สอนลูกเรื่องการสวัสดีบ่อย ๆ พร้อมกับแสดงให้เห็นเป็นประจำ จะทำให้ลูกเคยชินกับการไหว้และสวัสดี พร้อมกันนั้นควรปลูกฝังลูกด้วยว่า "การไหว้เป็นเรื่องที่ดี ลูกควรไหว้ผู้ใหญ่นะคะ", "เจอผู้ใหญ่ควรสวัสดีนะคะลูก" และ "เด็กที่ไหว้ผู้ใหญ่เป็นเด็กที่น่ารักนะคะ" นอกจากจะสอนเป็นประจำ ทำให้ดูเป็นตัวอย่างแล้ว ก็ควรจะให้เวลาและทำความเข้าใจธรรมชาติของลูกด้วย เด็กบางคนขี้อาย เด็กบางคนเข้าสังคมไม่เก่ง หรือในเวลานั้นลูกไม่อยากทำหรือไม่พร้อมจะทำตาม

 

3 ข้อต้องห้ามเมื่อสอนลูกสวัสดี

นอกจากการสอนลูกให้รู้จักทักทายแล้ว ยังมีข้อห้ามสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรระมัดระวังในการพร่ำสอนลูกด้วย

 

1) ห้ามสั่ง

เด็ก ๆ โดยเฉพาะในวัยที่กำลังต่อต้าน ไม่ชอบการถูกบังคับหรือใช้คำสั่ง หากพ่อแม่ใช้วิธีการสั่งหรือกดดันให้ลูกทำตาม เด็กมีแนวโน้มที่จะไม่ทำตาม หรือทำด้วยความไม่เต็มใจ แน่นอนว่าไม่เป็นผลดีในระยะยาว

 

2) ห้ามกล่าวโทษ

ลูกไม่ยอมสวัสดี ไม่ใช่เรื่องที่ต้องว่ากล่าวรุนแรง โดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ ที่ยังไม่เข้าใจถึงความสำคัญของการไหว้หรือกล่าวสวัสดี แต่บางครั้งคุณพ่อคุณแม่อาจจะรู้สึกไม่สบายใจเสียเอง จนเผลอดุว่าลูก กลายเป็นว่าเด็กฝังใจไม่อยากทำอีก

 

3) ห้ามใช้คำพูดเชิงลบ

การใช้คำพูดเชิงบวกจะทำให้ลูกรู้สึกดีและอยากทำตามได้มากกว่าการใช้คำพูดเชิงลบ ด้วยการสอนให้ลูกรู้ว่า การสวัสดีนั้นเป็น พฤติกรรมที่ดี ควรทำเป็นประจำ พร้อมกับชื่นชมเมื่อลูกสวัสดี สิ่งนี้จะช่วยให้เด็กรู้สึกเต็มใจอยากทำมากขึ้น

 

การสอนให้ลูกรู้จัก "สวัสดี" เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยเวลา ความอดทนในการฝึกฝน เพราะเด็กแต่ละคนมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะช่วงวัยที่กำลังต่อต้าน ควรหมั่นสอนลูกว่า สิ่งไหนควรทำและไม่ควรทำ พร้อมกับชมเชยเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่เหมาะสม

 

ปัญหา "ลูกไม่ยอมสวัสดี" จำเป็นต้องใช้สื่อการสอนเพื่อช่วยให้เด็กเรียนรู้และเข้าใจการทักทายได้ดียิ่งขึ้น เช่น หนังสือนิทาน “ปิงปิงสวัสดีค่ะ” สอนลูกให้รู้จักการไหว้และกล่าวสวัสดี เล่มนี้เล่าเรื่องราวผ่านตัวละครเด็กหญิง "ปิงปิง" ที่ยกมือไหว้สวัสดีจนเป็นที่รักใคร่เอ็นดูของผู้ใหญ่ทุกคน

 

อ่านนิทานพร้อมกับลูกจบแล้ว ลองชวนลูกคุยฝึกทักษะสมอง EF ให้ลูกฝึกคิดเพื่อเชื่อมโยงความรู้อย่างกล่องของขวัญในเรื่อง ถ้าต้องห่อของขวัญต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง ให้ลูกฝึก "คิดต่อ" ฝึกการคิดอย่างยืดหยุ่น เช่น ถ้าไม่มีเค้กจะใช้ขนมอะไรแทนได้บ้าง หรือถ้าหนูเป็นปิงปิงจะทำการ์ดวันเกิดให้ยายยังไงดี การกระตุ้นให้ลูกฝึกคิดหรือจินตนาการเป็นตัวเอง จะช่วยให้เด็กได้คิดเป็น ฝึกการวางแผนและดำเนินการ นิทาน “ปิงปิงสวัสดีค่ะ” นอกจากจะช่วยให้เด็กพัฒนาตนเองได้แล้ว ยังเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะสอนให้ลูกรู้จักกาลเทศะ สุภาพ นอบน้อม พร้อมปลูกฝังให้เติบโตเป็นคนที่มีสัมมาคารวะอีกด้วย

 

(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้