Pass Education Co.,Ltd
โดยปกติจะตอบกลับภายในไม่กี่ชั่วโมง
พาส เอ็ดดูเคชั่น สวัสดีจ้า
เริ่มแชท

10 วิธีป้องกันเด็กหาย พลัดหลง ถูกลักพาตัว

10 วิธีป้องกันเด็กหาย พลัดหลง ถูกลักพาตัว

10 วิธีป้องกันเด็กหาย พลัดหลง ถูกลักพาตัว

ข่าวเด็กหายมีให้เห็นอยู่เป็นประจำ หากผู้ปกครองปล่อยให้เด็กคลาดสายตา โดยเฉพาะเด็กในช่วงวัย 1-6 ปี ที่ไวต่อสิ่งล่อตาล่อใจ ไม่คิดอะไรซับซ้อน หากมีอะไรรอบข้างที่น่าสนใจ ก็พร้อมจะพุ่งตัวไปหาโดยง่าย คุณพ่อคุณแม่จึงต้องรู้ วิธีป้องกันเด็กหาย พร้อมทั้งสอนลูกให้รู้เท่าทันคนแปลกหน้า ซึ่งเป็น 1 ในสาเหตุที่ทำให้เด็กหาย หรือถูกลักพาตัว

 

ทำไมเด็กถึงหาย?

เด็กหาย เกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่ เด็กพลัดหลงกับผู้ปกครอง เด็กถูกลักพาตัวจากแก๊งลักเด็ก เด็กหายเพราะการที่พ่อแม่แย่งกันเป็นผู้ปกครองเด็ก เด็กหนีออกจากบ้านเอง และเด็กที่ขาดการติดต่อ คุณแม่อย่าชะล่าใจ สถานที่ที่เด็กหาย มักเป็นที่ที่พ่อแม่ชะล่าใจว่าปลอดภัยสำหรับเด็กแล้ว ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งในบ้าน หน้าบ้าน ในรถ หน้าโรงเรียนหลังโรงเรียน ในห้องน้ำสาธารณะ เป็นต้น

 

10 วิธีป้องกันเด็กหาย พลัดหลง ถูกลักพาตัว

1) หากลูกอยู่บ้าน : ควรสอนลูกอย่าเปิดประตูให้คนแปลกหน้าเข้ามาในบ้าน หากลูกอยู่บ้านตามลำพัง อย่าบอกให้คนแปลกหน้ารู้ว่าอยู่บ้านคนเดียว รวมถึงอย่าปล่อยให้เด็กวิ่งเล่นหน้าบ้านตามลำพัง

2) ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่ในรถตามลำพัง : แม้เพียงไม่กี่นาที เพราะคนร้ายอาจขโมยรถ และลักพาตัวเด็กไปได้

3) ไม่ออกนอกโรงเรียน : หลังเวลาเลิกเรียน ย้ำกับลูกว่าให้รออยู่ในโรงเรียนเท่านั้น ไม่ออกมารอหน้าโรงเรียนเด็ดขาด

4) ไม่ปล่อยให้ลูกเข้าห้องน้ำสาธารณะตามลำพัง : อย่าชะล่าใจ คุณแม่ควรเข้าไปด้วย และดูแลอย่างใกล้ชิด

5) เขียนเบอร์โทรใส่กระเป๋าลูก : หรือพิมพ์ชื่อเด็ก - ชื่อผู้ปกครอง และเบอร์โทรศัพท์ไว้ในเสื้อหรือในกระเป๋าของเด็ก หรือสอนลูกจำชื่อตัวเอง ทั้งชื่อจริงและนามสกุล รวมถึงชื่อและเบอร์โทรศัพท์ของคุณพ่อคุณแม่

6) แต่งตัวให้ลูกมีจุดสังเกตที่โดดเด่น : ใครเห็นก็จำได้ เช่น เสื้อผ้าสีสันสดใส สะพายกระเป๋า ใส่หมวก ผูกโบว์ ติดกิ๊บที่เห็นเด่นชัด เวลาออกตามหาจะได้อธิบายให้คนเห็นภาพได้ง่าย และถ่ายรูปลูกก่อนออกจากบ้าน เพื่อให้จดจำชุดเสื้อผ้า การแต่งตัวของลูกได้อย่างครบถ้วน และเพื่อสะดวกต่อการตามหา

7) เมื่อไปตามสถานที่ต่างๆ ควรพาลูกไปรู้จักจุดประชาสัมพันธ์ : เพื่อกำหนดจุดนัดพบ หากพลัดหลง ฝึกลูกสังเกตการแต่งกายของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หรือเจ้าหน้าที่ประจำสถานที่นั้นๆ ที่ลูกจะสามารถไปขอความช่วยเหลือได้

8) ห้ามละสายตาจากลูกเด็ดขาด : ไม่ว่าจะเป็นตอนเลือกซื้อของ ชำระเงิน รับโทรศัพท์ หรือทักทายคนรู้จัก ไม่ควรให้เด็กเดินตามหลัง ควรจูงมือหรือให้ลูกเดินข้างหน้า เพื่อจะได้เห็นลูกตลอดเวลา

9) ให้ลูกใส่นาฬิกาที่บอกพิกัดหรือตำแหน่ง : โดยนาฬิกาประเภทนี้จะมี GPS บอกตำแหน่งที่อยู่ของลูก แม่สามารถโทรเข้า และลูกสามารถโทรออกไปหาแม่ได้

10) ใช้สายจูงกันลูกหาย หรือเป้จูงกันหลง : สำหรับเด็กวัยไม่เกิน 3 ขวบก็เป็นอีกหนึ่งไอเท็มที่ช่วยป้องกันลูกพลัดหลงได้ อาจจะมีคนมองเราแปลกๆ ไปบ้างเพราะไม่คุ้นเคย แต่เพราะความปลอดภัยของลูกต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง คุณแม่อย่าได้แคร์สายตาใคร

 

เพราะในสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี วิธีป้องกันเด็กหาย จึงต้องใช้ควบคู่ไปกับ “การสอนให้ลูกรู้เท่าทันคนแปลกหน้า” ดังต่อไปนี้

8. วิธีสอนลูกรู้เท่าทันคนแปลกหน้า

1) สอนลูกให้ช่างสังเกต : จดจำรูปร่างหน้าตา ลักษณะทั่วไปของคนเช่น อ้วน ผอม สูง เตี้ย ผิวขาว ผิวดำ จมูกโด่ง แก่กว่าพ่อ เด็กกว่าแม่ เป็นต้น

2) สอนลูกว่าในสังคมมีทั้งคนดีและคนไม่ดี : ให้ลูกคอยระวัง อย่าไว้ใจใครง่ายๆ คนแปลกหน้าที่ควรระวัง คือ คนที่ไม่รู้จัก แต่ถ้าพ่อแม่คุยด้วย ลูกก็ควรทักทายตามปกติ

3) ไม่ควรขู่ลูกให้กลัวคนแปลกหน้าทุกคน : เพราะจะส่งผลเสียต่อทักษะการเข้าสังคม

4) สอนลูกไม่ให้รับของจากคนแปลกหน้า : เพราะคนร้ายส่วนใหญ่จะใช้วิธียื่นของให้เพื่อตีสนิทก่อน

5) ฝึกให้ลูกกล้าร้องขอความช่วยเหลือ : เมื่อมีคนแปลกหน้ามาจับ หรือแตะต้องตัว ชักชวนไปไหน สอนให้ลูกตะโกนโวยวาย “ช่วยด้วยครับ/ ช่วยด้วยค่า” ให้ดังที่สุด

6) ย้ำกับลูกว่า ถ้าใครชวนไปไหนต้องบอกพ่อกับแม่ก่อนทุกครั้ง : ที่สำคัญ ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังเด็ดขาด

7) ซักซ้อมจำลองเหตุการณ์สมมุติ : ถ้ามีคนแปลกหน้าชวนหนูไปกินไอติม หนูจะทำอย่างไร ถ้ามีคนที่ไม่รู้จักชวนหนูไปเล่นที่บ้านหนูจะบอกใครก่อน ถ้ามีคนชวนหนูขึ้นรถจะทำอย่างไร โดยให้ลูกลองตอบเองก่อน แล้วแม่ค่อยแนะนำเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกตัดสินใจได้ไดีขึ้น เมื่อต้องเจอเหตุการณ์จริง

8) ตั้งพาสเวิร์ดร่วมกับลูก : โดยตกลงกับลูกว่าไม่ให้บอกใครเด็ดขาด เนื่องจากคนร้ายมักอ้างว่า พ่อแม่ให้มารับ ดังนั้น หากมีใครอ้างว่าพ่อแม่ให้มารับ หรือชวนไปไหน ให้ถามหา พาสเวิร์ด ก่อน


........................................................................................................................



หนังสือนิทาน “ปิงปิงถูกหลอก” สอนลูกระวังภัยผู้ไม่หวังดี รู้วิธีรับมือคนแปลกหน้า

นิทานปิงปิง เรื่อง ปิงปิงถูกหลอก 1 ใน 4 เรื่องจากชุด ปิงปิงระวังภัย เตรียมความพร้อมลูกรู้วิธีป้องกันตัวเองจากคนแปลกหน้า ผ่านเรื่องราวของปิงปิง ที่ไปเที่ยวกับคุณแม่ ขณะที่คุณแม่กำลังรับโทรศัพท์ ปิงปิงเห็นตัวตลกถือลูกโป่งผ่านไป ปิงปิงอยากได้ลูกโป่งจึงเดินตามไป เพราะคิดว่าใกล้นิดเดียว และไปไม่นาน แต่คิวลูกโป่งยาวกว่าที่คิด และมีคนแปลกหน้ามาชวนปิงปิงไปเอาลูกโป่งอีกที่นึง ซึ่งมีลูกโป่งเยอะกว่า ปิงปิงจะทำอย่างไร?

 

เพราะเด็กไม่คิดอะไรซับซ้อน จึงถูกหลอกได้ง่าย เป็นเรื่องสำคัญมากที่คุณแม่ต้องเตรียมความพร้อม ให้ลูกมีทักษะชีวิต โดยให้หนังสือนิทาน เป็นอีก 1 วิธีป้องกันลูกหาย ที่จะเป็นการยกตัวอย่างให้ลูกเห็นว่า เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และตัวละครมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร

 

ชวนลูกคิดต่อ เชื่อมโยงกลับมาที่ตัวเอง เช่น ถ้ามีคนแปลกหน้าเอาไอติมมาให้และชวนหนูไปเล่นที่บ้าน หนูจะทำอย่างไร หรือถ้าหนูพลัดหลงกับแม่ หนูจะทำอย่างไร ฝึกการยั้งคิดไตร่ตรอง และวางแผนดำเนินการ ซึ่งเป็น 1 ในทักษะ EF ที่เด็กควรมี

 

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถสอนลูกผ่านการเล่น ให้ลูกฝึกจดจำและแยกแยะลักษณะที่แตกต่างของคน เช่น ไปห้างสรรพสินค้า ลองให้ลูกสังเกตว่า พี่ยามที่ประตูทางเข้าห้าง กับพี่แคชเชียร์ที่ร้านขายไอติม มีอะไรที่แตกต่างกัน เป็นการฝึกการช่างสังเกต และฝึกความจำเพื่อใช้งาน (Working Memory) ซึ่งลูกจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน

 

เด็กหาย ลูกหายทำอย่างไร?

เด็กหาย ไม่ต้องรอ 24 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่สามารถแจ้งความได้ทันที

ติดต่อศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา โทร. (02) 973-2236, (02) 973-2237, (02) 973-3533, (02) 973-3833

สายด่วน 080-775-2673

 

ขอบคุณข้อมูลจาก kapook.com, (ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้