ทุกวันนี้ภัยจากการ “ล่วงละเมิดทางเพศ” มีอยู่รอบตัวเด็ก จากข่าวความรุนแรงทางเพศในเด็กที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และที่น่าเป็นห่วง คือ ไม่ใช่แค่คนแปลกหน้าที่ต้องระวัง แต่คนใกล้ตัวก็อันตรายไม่แพ้กัน พ่อแม่จะช่วยปกป้องลูกน้อยให้ปลอดภัยจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้อย่างไร?
จากสถิติที่มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ทำการรวบรวมข่าวการกระทำรุนแรงทางเพศ พบว่า
• อันดับ 1 เกิดจากบุคคลแปลกหน้า/ไม่รู้จักกัน ร้อยละ 45.9
• อันดับ 2 เป็นคนรู้จักคุ้นเคยและบุคคลในครอบครัว ร้อยละ 45.6 เช่น ครูล่วงละเมิดทางเพศนักเรียน นักเรียนกระทำกับนักเรียน, เพื่อนร่วมงาน/เพื่อน, คนข้างบ้าน, พระกระทำเด็กที่คุ้นเคยกัน, พ่อเลี้ยง-ลูกเลี้ยง, ลุง-หลาน, น้า-หลาน หรือแม้กระทั่ง พ่อกระทำกับลูก
•อันดับ 3 ถูกกระทำจากบุคคลที่รู้จักกันผ่าน Social Network ร้อยละ 8.5
เมื่อคนที่ไว้ใจ อาจไม่ปลอดภัยกับเด็กอีกต่อไป คุณแม่จึงต้องหมั่นสังเกตอาการด้านร่างกายหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูก ว่ามีอาการเหล่านี้ที่บ่งบอกว่าลูกอาจถูก ล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่
วิธีสังเกตลูกถูกล่วงละเมิดทางเพศ
1. สังเกตรอยฟกช้ำตามร่างกาย บาดแผลในตำแหน่งที่ไม่น่าเกิดจากโรคหรือความเจ็บป่วย
2. มีพฤติกรรมและการแสดงออกที่เปลี่ยนไป อาการหวาดกลัว ตกใจง่าย วิตกกังวล ฝันร้าย นอนไม่หลับ ซึมเศร้า เก็บตัว ไม่พูดไม่จา
3. มีความระแวดระวังบุคคลหรือกลุ่มคนบางกลุ่มเป็นพิเศษ
4. กลัวสถานที่ใดสถานที่หนึ่งที่เขาถูกทำร้าย เช่น กลัวบ้าน กลัวโรงเรียน กลัวบ้านเพื่อน กลัวบ้านญาติ กลัวสถานที่เปลี่ยว
บาดแผลที่เกิดขึ้นกับเด็กที่ถูก ล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ใช่เพียงร่างกายภายนอก แต่จะกลายเป็นปมฝังลึกในจิตใจ ทำให้เด็กอับอาย ขาดความเชื่อมั่นใจตัวเอง เกิดความเครียด ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตต่อไปในอนาคต
ดังนั้น กันไว้ดีกว่าแก้! เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่เปลี่ยน mind set ตัวเองก่อน ว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่ไม่ควรพูด แต่ควรพูดอย่างตรงไปตรงมา เข้าใจง่าย ให้เหมาะกับวัยของลูกต่างหาก
เทคนิคป้องกันลูก “ถูกล่วงละเมิดทางเพศ”
คุณพ่อคุณแม่ควรสอนให้ลูกน้อยเรียนรู้และมีทักษะในการป้องกันตัวเอง เพื่อให้ลูกสามารถรับมือกับอันตรายทางเพศ และไม่ตกเป็นเหยื่อ ล่วงละเมิดทางเพศ
1. สอนลูกให้เรียก “อวัยวะ” ต่างๆ ในร่างกายด้วยคำที่ถูกต้อง
- คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มสอนให้ลูกรู้จักชื่อเรียกของอวัยวะที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น จู๋ จิ๋ม ก้น หน้าอก หัวนม นม ได้ตั้งแต่วัย 2-3 ขวบ ที่ลูกเริ่มเรียกชื่อได้ และรู้จักสังเกตความแตกต่างระหว่างชาย-หญิง โดยสามารถใช้ช่วงเวลาอาบน้ำ สอนให้ลูกรู้จักว่าอวัยวะเพศ ของผู้ชายเรียก จู๋หรือเจี๊ยว ของผู้หญิงเรียก จิ๋มหรือปิ๊ การสอนควรใช้คำง่ายๆ เพื่อให้ลูกสื่อสารกับพ่อแม่ได้ เมื่อเกิดอะไรไม่ปกติกับร่างกายของลูก และไม่ควรใช้คำแปลกพิสดาร ไม่เหมือนชาวบ้าน เมื่อเกิดเหตุการณ์ ล่วงละเมิดทางเพศ ที่ต้องสื่อสารขอความช่วยเหลือจากคนอื่น จะไม่มีใครเข้าใจ
2. สอนลูกให้รู้ว่า ”ร่างกายของเรา” คือ “พื้นที่ส่วนตัว”
- ลูกต้องไม่ปล่อยให้ใครมาสัมผัสร่างกายของเรา ขอจับแก้ม หอมแก้ม จุ๊บปาก รวมถึงอวัยวะในร่มผ้า ห้ามแตะต้อง จ้องมอง หรือถ่ายรูป คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนโดยให้ลูกใส่ชุดว่ายน้ำแบบ One Piece และสอนว่า อวัยวะที่อยู่ภายใต้ชุดนี้ คือ ของส่วนตัว ไม่อนุญาตให้ใครมาแตะต้องทั้งสิ้น ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นคนใกล้ชิดหรือไม่ก็ตาม มีเพียงพ่อแม่ และตัวลูกเองเท่านั้น ที่สามารถสัมผัสได้
3. สอนลูกให้ “รู้จักปฏิเสธ” เมื่อมีคนอื่นที่ไม่ใช่พ่อแม่มาขอจับ จ้องมอง หรือถ่ายรูป
- เมื่อลูกรู้แล้วว่าอวัยวะไหนบ้างคือพื้นที่ส่วนตัว และลูกไม่อนุญาตให้ใครมาสัมผัส คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักกล้าปฏิเสธด้วย จากสถิติพบว่าคนที่มักทำร้าย ล่วงละเมิดทางเพศ มักจะเป็นคนใกล้ชิด หรือคนที่เด็กเคารพ เช่น เพื่อน พี่เลี้ยง ญาติ เพื่อนบ้าน ครู เป็นต้น ถ้ามีใครทำแบบนั้นให้สอนลูกปฏิเสธด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า "ไม่ได้" แล้ววิ่งหนีออกมาโดยเร็ว ไม่ต้องเกรงใจ แม้ว่าเขาจะเป็นคนที่ลูกเคารพก็ตาม
4. สอนลูกให้ “บอกพ่อแม่” ทันที ถ้ามีคนมาขอจับ ดู หรือโชว์ของส่วนตัว กับลูก
- เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น เด็กมักจะถูกขู่ หรือขอร้องว่าไม่ให้ไปบอกใคร คุณแม่อาจใช้วิธีสอนลูกว่า ถ้ามีใครทำแบบนั้นให้มากระซิบบอกแม่เบาๆ เขาไม่รู้หรอก ยังไงพ่อแม่ก็จะช่วยปกป้องไม่ให้ใครมาทำอะไรลูกได้
5. สอนลูกให้ “แยกแยะ” สัมผัสแบบไหนคือ “สัมผัสที่ปลอดภัย”
- ลูกมีสิทธิ์เต็มที่ในร่างกายตัวเอง ที่จะปกป้องพื้นที่ส่วนตัวไม่ให้ใครจับ สัมผัส แม้แต่พ่อแม่เองอยู่ๆ จะไปจับ ก็ต้องมีเหตุผลเสมอ เช่น จำเป็นต้องช่วยลูกในการทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ ล้างก้นให้ลูก เป็นต้น หากไปหาหมอ จำเป็นต้องตรวจบริเวณเหล่านี้ พ่อแม่จะอยู่กับลูกทุกครั้ง หรือในวิชาเรียนบางวิชาอาจต้องมีสัมผัสของครูในบางครั้งอาจต้องมีการสัมผัสกันเล็กน้อย
6. สอนให้ลูก “เคารพ” สิทธิ์ในร่างกายของคนอื่นด้วย
- เราอยากให้คนอื่นเคารพสิทธิ์ในร่างกายของเรา เราก็ต้องเคารพสิทธิ์ในร่างกายคนอื่นด้วย ถ้าลูกจะไปถูกเนื้อถูกตัวใครให้ขอก่อน ถ้าใครบอกให้ “หยุด” ลูกต้องหยุด เวลาเล่นกับพี่กับน้องก็เหมือนกัน ถ้ามีใครขอให้หยุดโดนตัวกัน ต้องหยุดเสมอ เราจะไม่ฝืนใจคนอื่น
7. พ่อแม่ต้อง “ไม่บังคับ” ให้ลูกกอดใคร หอมใคร ถึงแม้เขาจะเป็นญาติแท้ๆ
- เวลาที่เราพาลูกไปหาญาติ แล้วเขาขอกอด ขอหอมด้วยความเอ็นดู เรามักจะบอกลูกให้ยอมทำตาม ทั้งๆ ที่ลูกอาจจะไม่เต็มใจ การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกสับสนว่า ตกลงแล้ว ลูกมีสิทธิ์ในร่างกายตัวเองจริงหรือเปล่า ดังนั้น พ่อแม่เองต้องทำให้ลูกมั่นใจด้วยว่า เขามีสิทธิ์เต็มที่ในร่างกายของเขา และเขาต้องสามารถควบคุมมันได้ ไม่ใช่ใครจะมาบังคับแล้วลูกต้องทำตาม
8. สอนลูกให้ “เชื่อในความรู้สึกของตัวเอง”
- สอนลูกว่า ในบางสถานการณ์ หรือบรรยากาศที่ลูกรู้สึกว่า การสัมผัสนั้นทำให้ลูกไม่สบายใจ อึดอัด กลัว หรือรู้สึกแปลกๆ เช่น การสัมผัสของครูที่โรงเรียนในบางวิชา ถ้าลูกรู้สึกมากๆ ลูกต้องปฏิเสธ ตะโกนขอความช่วยเหลือ หรือวิ่งออกมาให้พ้นจากสถานการณ์ที่ลูกไม่ชอบ ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียมารยาท และกลับมาเล่าให้แม่ฟังทุกครั้ง แม่จะปกป้องลูกเอง
9. คุยกับลูกในบรรยากาศผ่อนคลาย
- การจะสอนลูกให้เข้าใจเรื่องการป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจากการ “ล่วงละเมิดทางเพศ” เป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ สอน หาเวลาพูดคุยแบบสบายๆ โดยคุณพ่อคุณแม่อาจใช้หนังสือนิทานเป็นตัวช่วยในการยกตัวอย่าง สื่อสารให้ลูกเห็นภาพและทำความเข้าใจตามได้ง่าย ซึ่งเรื่องราวในหนังสือ จะเป็นตัวแทนของเด็กๆ เมื่อเจอเหตุการณ์ ล่วงละเมิดทางเพศ และวิธีการง่ายๆ ที่เด็กสามารถดูแลตัวเองได้อย่างปลอดภัยตามวัยของเขา
--------------------------------
หนังสือนิทาน “ปิงปิงไม่ยอม” ตัวช่วยคุณแม่ สอนลูกปลอดจากภัย ล่วงละเมิดทางเพศ นิทานปิงปิง เรื่อง ปิงปิงไม่ยอม 1 ใน 4 เรื่องจากชุด #ปิงปิงระวังภัย หนังสือที่คุณแม่ยุคใหม่ควรมีติดบ้านไว้ เป็นตัวช่วยในการสอนลูกน้อยให้รู้เท่าทันอันตรายรอบตัว โดยเฉพาะภัยจากคนใกล้ตัวที่เด็กๆ อาจคาดไม่ถึง เมื่อคุณครูผู้ชายเข้ามาหลอกล่อเด็กๆ ด้วยขนมลูกอม แลกกับการขอหอม ขอจับจิ๋ม ปิงปิงจะทำอย่างไร?
ถึงเวลาแล้วที่คุณแม่จะสอนเด็กๆ เรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา ปิงปิงไม่ยอม หนังสือเล่มนี้เล่าเรื่องผ่านนิทานคำกลอน ด้วยคำอธิบายง่ายๆ เหมาะกับเด็กวัยอนุบาล สอนให้เด็กรู้จักเอาตัวรอดด้วยวิธีการที่ถูกต้อง อีกทั้งยังสอดแทรกทักษะ EF ฝึกให้เด็กรู้จักคิดแก้ปัญหา ยั้งคิด และไตร่ตรอง ซึ่งเป็นทักษะสำคัญสำหรับเด็กยุคใหม่ที่จะต้องฝึกการเอาตัวรอดและรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า โดยเชื่อมโยงจากตัวละครในเรื่องกลับมาที่ตัวเองได้
(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)