ต้องเข้าใจก่อนว่าเราทุกคนเกิดอารมณ์ก้าวร้าวได้ ไม่ใช่เรื่องผิด หรือห้ามแสดงออก เพียงแต่ต้องอยู่ในขอบเขตไม่ทำร้ายตัวเองและไม่ทำร้ายคนอื่น
ลูกก้าวร้าวเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของเด็กยุคนี้ ความก้าวร้าวมักสัมพันธ์กับการเอาแต่ใจ บางครั้งเพราะถูกพ่อแม่สปอยล์จนเคยตัว และบางทีพ่อแม่ก็กลายเป็นตัวอย่างความก้าวร้าวเสียเอง
“หยุดร้องเดี๋ยวนี้! ตีให้ตายเลย”
“ไม่ซื้อ! จะซื้อทำไม ของเล่นเต็มบ้านแล้ว”
ส่วนใหญ่ไม่ใช่แค่พูด แต่หลายคนลงไม้ลงมือกับลูกด้วย
งานวิจัยพบว่า ยิ่งทำโทษ ลูกยิ่งดื้อต่อต้าน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมตีเท่าไรลูกก็ไม่ดีขึ้น ยิ่งก้าวร้าวหนักกว่าเดิม
การแก้ปัญหาลูกก้าวร้าวมีหลัก 2 ข้อ
1. พ่อแม่ต้องไม่ก้าวร้าว ถ้าไม่อยากให้ลูกก้าวร้าว แต่เรากลับใช้ความก้าวร้าวกับลูก ลูกก็ไม่มีทางปรับพฤติกรรมนั้นได้ เพราะเด็กจะซึมซับจากสิ่งที่พ่อแม่เป็น ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่พูด
2. ไม่สนับสนุนให้ลูกก้าวร้าว เช่น ไม่ว่าลูกจะต่อรองอย่างไร ถ้าเป็นเรื่องไม่เหมาะสม เราต้องยืนยันว่าไม่ได้
การปรับพฤติกรรมลูกก้าวร้าว ต้องใช้ความอดทนและสม่ำเสมอ ในเด็กเล็ก 1-6 ปี เป็นช่วงวัยที่ยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ง่าย และคุ้มค่าที่พ่อแม่จะทำ เพราะจะได้ลูกที่โตขึ้นสามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้ดี
(ขอบคุณภาพประกอบจาก freepik.com)